อยากจะสร้างภูมิคุ้มกันปัญญาบกพร่อง พัฒนาสมอง การอ่านครั้งเดียวก็เพียงพอแล้วนั้น “คิดใหม่ อ่านซ้ำ” ได้แล้วนะ

โดยเฉพาะหนังสือแนววรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนไทย หรือนักเขียนต่างภาษา เพราะมันจะช่วยให้ทบทวนรื้อฟื้นความทรงจำ ย้อนรอยเรื่องราวเสมือนได้ออกกำลังให้รอยหยักของสมองแข็งแรง

เช่น น.ส.ลิซา เคลมเมอร์ หนอนหนังสือวัยเลข 3 นำหน้า เธอเล่าว่า ตัวเองอ่านนวนิยายของวอลเกอร์ เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ เรื่อง “เดอะ คัลเลอร์ เพอร์เพิล” (The Color Purple) ที่เกี่ยวกับชีวิตคนผิวดำในบ้านนอกแล้วถูกนำมาสร้างเป็นหนังฮอลลีวูด จนดังเป็นดาวกระจาย ครั้งแรกก็ตอนเรียนมหา’ลัย เธอชักติดใจเหมือนเปิดหน้าต่างโลกใบใหม่ให้กับชีวิตตัวเอง

เธอจึงหยิบมาอ่านเหมือนคนย้ำคิดย้ำทำหลายครั้ง และนี่ไม่ใช่รสนิยมโดดเดี่ยว

เหตุอันใดคนเคยผ่านตาหนังสือสักเล่มแล้วต้องหวนมาอ่านอีกรอบ ทั้งที่มีเล่มเกิดใหม่ขึ้นมาตั้งมากมายจนแทบจะเลือกอ่านกันไม่หวาดไม่ไหว

ผลการวิเคราะห์ของ สมาคมห้องสมุดประชาชนชาวอเมริกัน (เอแอลเอ) ตอบว่า แต่ละเล่มจะมีบุคลิกหรือบางฉากบางตอนหรือบทเรียนสอนให้กับชีวิตที่น่าสนใจ นำมาประยุกต์ให้เข้ากับตัวเองได้ อ่านแล้วอารมณ์คล้อยตาม

บางคนก็ต้องการศึกษาหาความรู้และอ่านเอาเพลิน เจริญอารมณ์ หรืออาจจะแค่อ่านผ่านๆ พอให้ได้สัมผัส หรือบางรายก็เป็นประเภทคนคุ้ยความคิดอยากล้วงลึกกึ๋นของนักเขียนดังๆทั้งหลายแหล่ว่าทำไมถึงเขียนอย่างนั้น ตอนนั้นคิดอะไร มันมีความหมายแฝงซ่อนเร้นเป็นนัยอยู่รึเปล่า?

ในเมื่อครั้งแรกไม่กระจ่าง ก็ต้องมีครั้งสอง ครั้งสาม ครั้งสี่ ครั้งห้า ครั้งต่อๆ มา จนกว่าจะทะลวงถึง กะจะเอาให้ลึกซึ้งซึมซับตราบจนวันตายไปเลย

...

ไม่เพียงโลกแห่งวรรณกรรมทุกประเภทนะ ขนาดคัมภีร์ไบเบิล ของศาสนาคริสต์ กับคัมภีร์อัลกุรอาน ของศาสนาอิสลาม ก็น่าจะเรียกได้ว่ามีคนหยิบจับและเปิดทบทวนความจำคำสั่งสอนย้อนไปย้อนมาแต่ละหน้าแต่ละบทมากที่สุดในโลก

ถ้าหนังสือเป็นสารเสพติดได้ ก็ขอแค่เบาะๆ เป็นประเภทคาเฟอีน ที่เมื่อใดพลิกหน้าอ่านบรรทัดแรกแล้วต้องฟินติดใจในรสชาติ ขอเสพเรื่อยไป...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ