ปั่นป่วนกันทั่วโลก การระบาดไวรัสโควิด-19สายพันธุ์โอมิครอน ตามข้อสันนิษฐานจากแล็บมีการกลายพันธุ์ของยีน 50 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้กลายพันธุ์หนามโปรตีน 32 ตำแหน่ง สามารถจับเข้าเซลล์เพิ่มเชื้อแพร่กระจายเร็วขึ้นแล้วหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดีด้วย
ภายในไม่กี่สัปดาห์มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 23 ประเทศ 5 ภูมิภาคทั่วโลก คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “องค์การอนามัยโลก หรือ WHO” จึงได้จัดให้เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวลต่อจากสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ที่มีความเสี่ยงระดับสูงมากก่อผลกระทบร้ายแรง
ถัดมาไม่นาน “กระทรวงสาธารณสุข” มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศเสี่ยงในทวีปแอฟริกาเข้าไทย คือ บอตสวานา เอสวาตินี เลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามีเบีย แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ส่วนผู้เดินทางมาถึงไทยในวันที่ 28-30 พ.ย. ต้องเข้ากระบวนการกักตัว 14 วันทันที เพื่อสกัดเชื้อโควิดโอมิครอนนี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ตามข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโอมิครอนมีความผิดเพี้ยนหลายตำแหน่งเกือบทุกท่อนของยีน ทำให้เกิดกลไกการหลบหลีกภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และภูมิคุ้มกันกระตุ้นจากวัคซีนได้ดี...บ่งชี้ถึงลักษณะการเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัสให้ติดง่ายกระจายรวดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น สร้างความเสียหายต่อผู้ติดเชื้อที่อาจมีอาการหนักขึ้นด้วยก็ได้
...
ถ้าย้อนดูต้นตอเชื้อโอมิครอนนี้เริ่มการระบาดในกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยแอฟริกาใต้ 22 คน ที่เป็นกลุ่มวัยสุขภาพแข็งแรงอายุ 20 ปี ไม่มีโรคประจำตัวแล้วทุกคนฉีดวัคซีนประสิทธิภาพมาตรฐานระดับโลก
สะท้อนถึง “ความร้ายกาจน่ากังวลใจต่อเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน” สามารถหลุดรอดวัคซีนประสิทธิภาพมาตรฐานแพร่ระบาดในกลุ่มคนอายุน้อยวัยไล่เลี่ยกันอย่างรวดเร็วแล้วผู้ป่วยบางคนก็เริ่มมีอาการหนักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล “แอฟริกา”...ต้องประกาศยกระดับเฝ้าระวังการแพร่เชื้อเร่งด่วนตามมา

ทว่าข้อมูลอาการติดเชื้อรุนแรงระดับใดนั้น “ตัวอย่างผู้ติดเชื้อยังน้อย” ไม่อาจสรุปชัดเจนได้ตอนนี้ แต่ด้วย “ลักษณะเชื้อโอมิครอน” ติดง่าย แพร่ระบาดเร็ว หลบหลีกภูมิคุ้มกัน ดื้อยา และการติดเชื้อเพิ่มในร่างกายได้เร็ว สามารถแพร่ไวรัสออกเป็นวงกว้างก็ครบคุณสมบัติการระบาดรุนแรง มักมีผู้ป่วยอาการหนักขึ้นได้อยู่แล้ว...มิอาจพูดได้ว่า “การติดเชื้อโอมิครอนอาการเหมือนไข้หวัด” เพราะตามข้อมูลของแอฟริกานั้น “ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มวัยแข็งแรงมาก” กลับมีอาการไข้อ่อนเปลี้ยเพลียแรงอย่างรุนแรง 2-3 วัน ฉะนั้นถ้าเป็นผู้สูงอายุ หรือป่วยมีโรคประจำตัว ก็อาจมีอาการรุนแรงมากกว่าคนอายุน้อยก็ได้
อย่าลืมว่าตั้งแต่ ม.ค.ปีที่แล้ว “โควิดมักหลอกลวงไม่อันตรายมาเสมอ” เพราะผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 80% ส่วนอีก 20% เริ่มเป็นไข้เล็กน้อย ยกระดับรุนแรงที่ต้องใช้เครื่องช่วยชีวิตมากมาย ดังนั้นอย่าด่วนสรุปเร็วไปว่า “โอมิครอนไม่น่ากังวลเหมือนไข้หวัด” คงต้องยึดประกาศองค์การอนามัยโลก เป็นหลักถูกต้องดีที่สุด

“สภาวะโรคระบาดรุนแรงต้องประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดก่อน เพื่อจะได้ออกมาตรการเฝ้าระวังป้องกันขั้นสูงสุด ในการรับมือเหตุอันร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นนั้น ส่วนประเมินว่าโอมิครอนเป็นเหมือนไข้หวัดตรงนี้เป็นคำปลอบใจให้คนสบายใจมักนำมาสู่ความประมาทการ์ดตกที่ไม่ใช่วิธีรับมือโรคอุบัติที่ดีอย่างโควิด” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ว่า ตอกย้ำด้วย “เชื้อโอมิครอนหลุดรอดแพร่กระจายหลายทวีป” แม้แต่ละประเทศมีมาตรฐานการคัดกรองป้องกันรัดกุมเข้มงวดแล้วก็ตาม แต่ด้วย “การผันแปรรหัสพันธุกรรมผิดเพี้ยนค่อนข้างมาก” ทำให้สามารถหลบหลีกการตรวจด้วยพีซีอาร์อันเป็นกระบวนการวิธีมาตรฐานใช้ตรวจโควิดทั่วโลกนี้ได้
...
ข้อพลาดนี้มีตั้งแต่จับหาพันธุกรรมโอมิครอนไม่ได้เลย ตรวจจับได้ 2/3 ชิ้นส่วน...ตรวจจับเชื้อได้ระดับต่ำไม่ตรงจริงแต่ไวรัสมีปริมาณมาก เพราะความผิดเพี้ยนรหัสพันธุกรรมทำให้การตรวจพีซีอาร์จับไม่แม่นยำ
อย่างกรณี “นักท่องเที่ยวฮ่องกงติดเชื้อโอมิครอน” เดินทางกลับมาจากแอฟริกาเข้าประเทศตรวจหาเชื้อครั้งแรกไม่พบ ถัดมา 2 วัน ต้องตรวจซ้ำก็พบระดับเชื้อแพร่ในร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
แล้วยังมีข่าวว่า “นักท่องเที่ยว 2 รายกักกันแยกห้องแล้วติดเชื้อโอมิครอน” ทั้งที่ไม่เคยมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกันมาก่อน จนตั้งข้อสังเกตว่า “การติดเชื้อแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) หรือไม่” ดังนั้นอย่าประมาท ควรระมัดระวังอย่างสูงสุด เพราะมีโอกาสข้ามแดนมาระบาดในไทยได้เสมอ

ย้ำอย่าลืมว่า “พี่ใหญ่โควิด ก็คือไวรัสซาร์ส” สามารถแพร่เชื้อทางอากาศได้ เช่น กรณีซาร์ส ระบาดในอาคารแห่งหนึ่งของฮ่องกง ที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ชั้น 2 แพร่เชื้อสู่ผู้อยู่ชั้นบนอาคารผ่านระบบแอร์คอนดิชัน ดังนั้นคงต้องภาวนาว่า “โอมิครอนคงไม่ร้ายกาจเก่งกาจขนาดนั้น” ที่ต้องจับตาเข้มข้นต่อไป
...
ในส่วน “ชุดตรวจ ATK ไม่เหมาะตรวจเชื้อโอมิครอน” แม้ตรวจหาแอนติเจนไวรัสสามารถจับเชื้อโอมิครอนได้ แต่ด้วย ATK ประมวลผลช้า มักเป็นผลลวงเยอะ ทำให้ไม่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีในสถานการณ์ตอนนี้
จริงๆแล้ว “ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่” เฝ้าระวังโควิดกลายพันธุ์ผิดเพี้ยนมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2563 เพราะคราวนั้น “คนไทย 77 ราย” เดินทางมาจากสาธารณรัฐซูดาน ตั้งในทวีปแอฟริกาแล้วใช้วิธีตรวจด้วยพีซีอาร์หลายยี่ห้อ ปรากฏว่า “ผลหลุดรอด 17-18 คน” จนเปลี่ยนการตรวจด้วยน้ำเหลืองมาวินิจฉัยแทน

ในการป้องกันโอมิครอนประสิทธิภาพดีต้องตรวจใช้พีซีอาร์ปรับปรุงพัฒนาใหม่ “ศูนย์โรคอุบัติใหม่” พัฒนาชุดตรวจครอบคลุมไวรัสทุกกลุ่มจัดเป็น variants of concern ทั้ง alpha beta gamma delta และ omicron บรรจุส่วนรหัสพันธุกรรมไวรัสที่ไม่ผันแปร มีความแม่นยำเป็นหลักประกันที่ไม่เกิดการหลุดรอดแน่ๆ
ประการสำคัญ “การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ โมเดอร์นา” เมื่อผ่านพ้น 3 เดือนยังพอป้องกันเดลตาได้ 60-70% ถ้าเปรียบเทียบกับการป้องกันเบตาไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ในส่วนโอมิครอน กลายพันธุ์หลายสิบตำแหน่งนี้ค่อนข้างไม่สบายใจมาก
...
หนำซ้ำบริษัทโมเดอร์นาออกมาระบุว่า “วัคซีนโมเดอร์นาเหลือการป้องกันโอมิครอน 50%” จนต้องเร่งพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ...การพิจารณานำวัคซีนควบรวมจากเชื้อตายที่มีหลายส่วนประกอบกันคู่กับวัคซีนที่มีแต่ส่วนหนาม spike RBD อาจจะได้ผลไม่เท่าที่คิดเมื่อเจอรหัสพันธุกรรมไวรัสหลากหลายอย่างโอมิครอน
เมื่อวัคซีนคุ้มกันได้ไม่ดีพอเช่นนี้แนะนำให้ “ติดอาวุธแก่คนไทย” สามารถเข้าถึงยารักษานับแต่ทราบผลบวกวินาทีแรก เช่น ยาฟ้าทะลายโจร หรือยาต้านโรคซึมเศร้าฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) แต่มีเงื่อนไขใช้กับผู้ติดเชื้อโควิดใหม่ๆที่จะป้องกันไม่ให้อาการหนักขึ้นได้ ที่ไม่ค่อยได้รับการส่งเสริมมากเท่าที่ควร

แม้แต่ “ยาฆ่าพยาธิไอเวอร์เม็กติน Ivermectin” ใช้รักษาผู้ป่วยโควิดกันอยู่กลับถูกองค์กรตะวันตกต่อต้านว่า “ไม่มีข้อมูลพอที่ควรใช้ได้” ในส่วนอินเดียมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมาก เริ่มใช้ยาทั้งคนสัมผัสผู้ติดเชื้อ รักษาผู้ติดเชื้อตั้งแต่เริ่มต้น ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยนิด อัตราการติดเชื้อ เสียชีวิตลดลงตั้งแต่ พ.ค.-มาจนปัจจุบันนี้...ไม่ว่าจะเป็น “ยาฟ้าทะลายโจร ยาต้านโรคซึมเศร้าฟลูวอกซามีน หรือยาพยาธิไอเวอร์เม็กติน” ต่างมีคุณสมบัติระงับอาการป่วยทุกสายพันธุ์ แต่กลับไม่เปิดโอกาสให้คนไทยได้ใช้ยาเข้าถึงการรักษาเร็วในการปกป้องตัวเอง เพราะหากไม่สามารถรักษาในวินาทีแรกแล้ว “อาการผู้ป่วยโควิด” มักยกระดับรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายนำไปสู่ “ผู้ป่วยวิกฤติโควิดเต็มห้องไอซียู” อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้
อนาคตไม่แน่นอนตราบใด “โควิด-19 ระบาด” ต้องประเมินสถานการณ์เลวร้ายที่สุดขั้วแล้วเตรียมแผนรับมือล่วงหน้าขั้นสูงสุดไว้ในการป้องกันการระบาดหนักที่อาจเกิดจากโอมิครอนนี้จะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา...