วันนี้ตรงกับ “วันชาติลาว” รัฐบาลลาวจัดฉลองวันชาติอย่างยิ่งใหญ่ด้วยการ เปิดเดินรถไฟความเร็วสูงปานกลางลาว-จีน เที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทาง เวียงจันทร์-บ่อเต็น ณ นครเวียงจันทร์ เป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของรถไฟลาวที่ก้าวลํ้านำหน้า การรถไฟแห่งประเทศไทย ไปหลายช่วงตัว อย่างน้อยก็ไม่น้อยกว่า 5–10 ปีเพราะกว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สาย กรุงเทพฯ-โคราช จะสร้างเสร็จก็ปาเข้าไปปี 2569–2570 โน่น ถ้าสร้างแบบไทยๆเหมือน มอเตอร์เวย์วังน้อย-โคราช ก็อาจใช้เวลามากกว่านี้

รถไฟความเร็วปานกลางที่รัฐบาลลาวนำมาวิ่งเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ฉลองวันชาติลาว มีชื่อว่า “ขบวนล้านช้าง” สีภายนอกเป็น “สีแดง-ฟ้า-ขาว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ สีธงชาติลาว ส่วนอีกขบวนชื่อ “แคนลาว” หนึ่งขบวนมี 9 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 720 ที่นั่ง เป็นตู้โดยสารชั้นหนึ่ง 1 ตู้ รับผู้โดยสายได้ 56 ที่นั่ง ซื้อจากบริษัทรถไฟแห่งชาติจีน

รถไฟความเร็วสูงปานกลางสายนี้วิ่งด้วยความเร็ว 160 กม.ต่อ ชม. แต่ค่าโดยสารถือว่าไม่ถูก ชาวเน็ตลาวบ่นว่าค่อนข้างแพง แต่บางคนก็ชอบเพราะเร็วกว่านั่งเครื่องบิน เท่าที่ทราบราคาค่าโดยสารคร่าวๆมีดังนี้ เส้นทาง เวียงจันทร์-วังเวียง ค่าโดยสาร 96,000 กีบ (ราว 317 บาท) จาก เวียงจันทร์-หลวงพระบาง ค่าโดยสาร 187,000 กีบ (ราว 617 บาท) จาก เวียงจันทร์-เมืองไซ ค่าโดยสาร 268,000 กีบ (ราว 885 บาท) จาก เวียงจันทร์-บ่อเต็น ค่าโดยสาร 320,000 กีบ (ราว 1,056 บาท)

โครงการนี้รัฐบาลไทยและคนไทยตื่นเต้นกันมาก โดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย อุดรธานี ที่อยู่ติดกับเวียงจันทร์ คาดหวังว่ารถไฟจีนลาวจะขนนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยจำนวนมาก ขนส่งสินค้าผ่านแดนจำนวนมหาศาล แต่ในความเป็นจริง สถานีรถไฟความเร็วสูงจีนลาว ตั้งอยู่ในนครเวียงจันทร์ ห่างจากชายแดนหนองคายราว 14 กม. และไม่มีระบบรถไฟไทยไปเชื่อมต่อ เพิ่งจะมาคิดกันตอนที่ลาวเปิดเดินรถไฟจีนลาวนี่แหละ กว่าจะสัมฤทธิผลก็คงอีกนานหลายปี

...

รถไฟความเร็วสูงปานกลางลาว-จีน มีระยะทาง 426 กม. เป็นรถไฟรางเดี่ยว เริ่มก่อสร้างในปี 2016 มี 75 อุโมงค์ยาว 198 กม. มี 167 สะพานยาว 62 กม. ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีก็แล้วเสร็จเปิดเดินรถได้ ใช้เงินลงทุนกว่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 194,700 ล้านบาท โดยมีจีนถือหุ้น 70% รัฐบาลลาวถือหุ้น 30% เงินลงทุนทั้งหมดกู้จากธนาคารเอ็กซิมของจีน ทำให้ลาวมีภาระหนี้กว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ ราว 46,200 ล้านบาท ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับจีดีพีลาวที่ 19,000 กว่าล้านดอลลาร์ 630,000 กว่าล้านบาทในปี 2563

มีรายงานการศึกษาของ ธนาคารโลก ระบุว่า รถไฟลาว-จีน โดยตัวของมันเอง อาจจะไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาทั้งหมด เพราะคาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่ต้องการใช้รถไฟในช่วงเวียงจันทร์-บ่อเต็น (เมืองชายแดนลาวติดกับมณฑลยูนนานของจีน) จะมีเพียง 480,000 คนในปี 2025 (อีก 4 ปีข้างหน้า) และเพิ่มเป็น 1.1 ล้าน ในปี 2030 (อีก 9 ปี)

ดังนั้น รถไฟจีน-ลาว สายนี้จึงมีหน้าที่หลักในเรื่อง การขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งตํ่าลง ถ้าหากเส้นทางรถไฟเชื่อมโยงได้ทั่วภูมิภาคจาก จีน-ลาว-ไทย ลงไปถึง สิงคโปร์ ตามแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ธนาคารโลกคาดว่า การขนส่งสินค้าข้ามแดน ผ่านแดน และภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านตันต่อปี ในปี 2030 เฉพาะในส่วนของลาว-จีน คาดว่าจะขนส่งสินค้าได้ 1.7 ล้านตันต่อปี ในปี 2030

แต่จากการศึกษาของ เกร็ก เรย์มอนด์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า ผู้ที่มีบทบาทในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวมากที่สุดคือจีน นั่นเอง เมืองบ่อเต็น ที่อยู่ติดชายแดนจีน ถูกเนรมิตให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของจีนมาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ดินเมืองนี้พัฒนา ภายใต้สัญญาเช่า 99 ปี ตั้งแต่ปี 2003

รถไฟจีน-ลาว ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ รัฐบาลไทยต้องศึกษาอย่างละเอียด เพื่อต่อรองกับจีนในอนาคต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ เพราะผลประโยชน์สองข้างทางรถไฟความเร็วสูง มันมหาศาลจนนับมูลค่ามิได้.

“ลม เปลี่ยนทิศ”