ข่าวร้ายที่ทุกคนคาดคะเนกันไว้ก็มาถึงจนได้ หลังเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดการอุบัติขึ้นของไวรัสโควิด–19 ตัวกลายพันธุ์ใหม่ รหัส “B.1.1.529” หรือที่มีชื่อใหม่ว่า โอไมครอน (Omicron) 

แม้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการในวันที่เขียนคอลัมน์ แต่หากดูจากรายชื่อตัวอักษรกรีกแล้ว ลำดับถัดไปคงหนีไม่พ้น “นู” (Nu) หรือเชื้อกลายพันธุ์นูนั่นเอง

ส่วนจะถูกจัดไว้ในประเภทไหน ก็ต้องรอดูกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งกรณีนี้ต้องขอย้อนความทรงจำกันเล็กน้อยว่า องค์การอนามัยโลกได้จัดประเภทเชื้อโควิดกลายพันธุ์ไว้ 2 แบบ คือ เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าจับตา (VOI) กับเชื้อกลายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวล (VOC) โดยเป็นตามที่ระบุไว้ น่าจับตาหมายความว่าไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่จะทำให้คุณสมบัติของมันต่างไปจากเดิม พร้อมมีความสามารถในการแพร่ระบาดระดับคลัสเตอร์หรือระดับประเทศ

ตอนนี้ เชื้อกลายพันธุ์น่าจับตา หรือวีโอไอ ที่ยังอยู่ในลิสต์ขององค์การอนามัยโลก เหลือเพียง “แลมบ์ดา” (Lambda) ที่ตรวจพบครั้งแรกในเปรูตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2563 และ “มิว” (Mu) ที่ตรวจพบครั้งแรกในโคลอมเบียตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.2564ต้นปีที่ผ่านมา

ขณะที่ประเภทน่าวิตกกังวลหมายความว่า เชื้อดังกล่าวเป็นตัวอันตราย ที่มีคุณสมบัติในการแพร่ระบาดดีขึ้น หรือทำให้อาการป่วยเปลี่ยนไปจากตัวต้นแบบ หรือ “ลดประสิทธิภาพมาตรการป้องกัน” ต่างๆที่ใช้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะ หรือวัคซีนต้านไวรัส

โดยไวรัสกลายพันธุ์น่าวิตกกังวลหรือวีโอซี ที่ยังอยู่ในรายชื่อขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย “อัลฟา” (Alpha) ที่ตรวจพบครั้งแรกในอังกฤษตั้งแต่เดือน ก.ย.2563 “เบตา” (Beta) ที่ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 “แกมมา” (Gamma) ที่ตรวจพบครั้งแรกในบราซิลตั้งแต่เดือน พ.ย.2563

...

แต่ไม่ว่าตัวไหน ก็ไม่สามารถเทียบชั้นกับเชื้อกลายพันธุ์ “เดลตา” (Delta) ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดียตั้งแต่เดือน ต.ค.2563 ได้เลย เพราะในขณะนี้ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก คิดเป็นเชื้อเดลตาไปกว่า 99.5 เปอร์เซ็นต์

เป็นเรื่องน่าสนใจว่า ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ “นู” จะถูกตีตราเช่นไร โดยศาสตราจารย์ ทูลิโอ เดอ โอลิเวียรา ผู้อำนวยการศูนย์ตอบสนองโรคติดต่อแอฟริกาใต้ ได้ให้ความเห็นว่า “อย่างแรกเลย ไวรัสตัวนี้มีความเป็นไปสูงที่เริ่มมาจากผู้ป่วยคนคนเดียว ที่ล้มป่วยจากโควิด-19 เป็นเวลานาน ทำให้ไวรัสมีการปรับเปลี่ยนตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อรับมือกับภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพราะจากการตรวจสอบ B.1.1.529 พบว่าไวรัสมีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด มากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนไว้ มีการกลายพันธุ์ในรหัสพันธุกรรมไปกว่า 50 รูปแบบ โดยเฉพาะตรงหนามโปรตีน ที่ไว้ใช้จับกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์เพื่อขยายตัว ก็มีการกลายพันธุ์กว่า30 รูปแบบ”

เบื้องต้นพอสรุปได้ว่า B.1.1.529 ตัวนี้ มีรหัสการกลายพันธุ์ที่ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิม และจากลักษณะที่เปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกาย “ไม่รู้จัก” ซึ่งหมายความว่า วัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาจมีประสิทธิภาพลดลง ไม่รวมถึงมีการกลายพันธุ์ในรหัสพันธุกรรมอย่างที่ไม่เคยพบกันมาก่อน จนแทบจะเรียกได้ว่า ไม่เหลือเค้าความเป็นโควิด–19 ต้นแบบ ที่ระบาดเริ่มแรกในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ ราวี กุปตา จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ มองด้วยว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปกันไป เพราะไวรัสกลายพันธุ์บางตัว “น่ากลัวเมื่อดูจากข้อมูลทางเอกสาร” อย่างเมื่อปลายปีก่อน นักวิทยาศาสตร์กลัวตัวกลายพันธุ์ “เบตา” จากแอฟริกาใต้กันมาก เนื่องจากมีคุณสมบัติในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันในร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม ส่วน “เดลตา” ในช่วงนั้นก็น่ากังวลไม่เท่า เพราะถึงจะมีคุณสมบัติในการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันแค่พอประมาณ กระนั้นสุดท้ายกลับกลายเป็นว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลตาที่ครองโลก

ดังนั้น คำตอบจึงอยู่ที่ “สถานการณ์จริง” ที่กำลังเกิดขึ้น ว่าจะมีทิศทางเช่นไรต่อไป โดยขณะนี้มีการตรวจพบการติดเชื้อกลายพันธุ์ B.1.1.529 ในจังหวัดกัวเตง ของแอฟริกาใต้ 77 คน ในประเทศบอตสวานา 4 คน และฮ่องกง 1 คน (ซึ่งเป็นนักเดินทางจากแอฟริกาใต้)...กระนั้นจากการตรวจสอบเพิ่มเติมของหน่วยงานสาธารณสุขพบว่า ชุดตรวจหาเชื้อมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ แสดงค่าผลตรวจผิดเพี้ยน เจอบ้างไม่เจอบ้าง เมื่อใช้กับผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่

ทำให้ประเมินแง่ร้ายได้ว่า เชื้ออาจจะกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ของแอฟริกาใต้เป็นที่เรียบร้อย และไม่แปลกที่เริ่มมีชาติต่างๆอย่างอังกฤษ สิงคโปร์ ประกาศระงับเที่ยวบิน ห้ามนักเดินทางจากแอฟริกาเข้าประเทศกันแล้ว.

วีรพจน์ อินทรพันธ์