• ประเทศต่างๆ ไม่เพียงแต่ต้องรับมือกับโรคร้ายโควิด-19 เท่านั้น แต่ปัญหาขยะทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมหาศาลในช่วงของการระบาดของโรคตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา กำลังจะเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลและภาคเอกชนแต่ละประเทศต้องเร่งหาทางรับมือ
  • หลายประเทศเริ่มแสดงความกังวลต่อปัญหานี้ และเดินหน้ารณรงค์การทิ้งขยะจากการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังให้สามารถบริหารจัดการขยะทางการแพทย์ที่มีจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
  • หนึ่งในแนวทางที่นักวิทยาศาสตร์แนะนำ คือ การรีไซเคิลขยะทางการแพทย์ รวมทั้งการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ด้วยวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เอง เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

แม่น้ำเทมส์ แม่น้ำใหญ่ที่ไหลผ่านใจกลางกรุงลอนดอน เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนวิถีชีวิตและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในทุกช่วงเวลา เพราะหลังจากผ่านเทศกาลคริสต์มาสไป ก็จะเห็นซากของประดับตกแต่งต้นคริสต์มาส หรือขวดแชมเปญที่ลอยล่องอยู่ในแม่น้ำ

ลารา ไมเคลม ผู้เขียนหนังสือเรื่อง มัดลาร์ก : ค้นหาอดีตกรุงลอนดอนผ่านแม่น้ำเทมส์ มักจะตระเวนดูสิ่งของต่างๆ ที่ถูกพัดมาเกยฝั่งของแม่น้ำเทมส์อยู่เสมอ โดยเธอมักจะพบเหรียญ หัวเข็มขัด หรือเศษซากข้าวของในยุคโบราณ บางชิ้นย้อนไปถึงยุคโรมัน ที่แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และความเป็นอยู่ของคนผ่านยุคต่างๆ แต่ในระยะหลังมานี้สิ่งที่เธอได้พบ กลับกลายเป็นขยะทางการแพทย์ ในยุคการระบาดของโควิด-19 ทั้งชุด PPE ถุงมือยาง รวมทั้งแมสก์ หรือหน้ากากอนามัย ที่ลอยมากับน้ำ และบางส่วนถูกฝังอยู่ในทราย

ไมเคลม เล่าว่า เธอสามารถนับถุงมือยางที่เธอเจอทั้งหมดรวมถึง 20 ชิ้น ในขณะที่เธอนั่งวาดภาพห่างจากริมฝั่งแม่น้ำไม่เกิน 100 เมตร ซึ่งสิ่งที่เธอพบก็ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะมันอาจจะถูกพัดพาตกมาจากกระเป๋า หรือถังขยะ และไหลมาตามท่อระบายน้ำ

...

มีรายงานว่า ขยะพีพีอี หรือขยะจากอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) เป็นขยะที่ถูกทิ้งปนไปกับขยะอื่นๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังพบหน้ากากอนามัยใช้แล้ว และถุงมือทางการแพทย์ ที่กลายเป็นเศษขยะตกอยู่ตามสวนสาธารณะ ถนน และชายฝั่ง ทั้งในกรุงลิมา โตรอนโต ฮ่องกง และที่อื่นๆ

นักวิจัยในหนานจิง ประเทศจีน และในย่านลา จอลลา แคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ร่วมกันคำนวณปริมาณขยะทางการแพทย์ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ใน 193 ประเทศทั่วโลก พบว่า มีขยะประเภทนี้เพิ่มขึ้นมาถึงกว่า 8 ล้านตัน ขณะที่กลุ่มโอเชียนเอเชียประมาณการว่า มีหน้ากากอนามัยมากถึง 1.5 พันล้านชิ้น ที่จะกลายเป็นขยะในทะเลในแต่ละปี

โดยนับตั้งแต่เดือนมกราคม อาสาสมัครของโครงการรักษาความสะอาดชายหาดสากล องค์การอนุรักษ์ทะเล พบขยะพีพีอีที่ลอยในน่านน้ำทั่วโลกรวมถึง 109,507 ชิ้น ซึ่งปัจจุบัน ทั้งนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งนักสิ่งแวดล้อม ต่างพยายามหาทางที่จะนำขยะพีพีอีเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ และจำกัดการทิ้งหลังใช้งานโดยไม่จำเป็น เพื่อหวังลดปริมาณขยะชนิดนี้ตั้งแต่ต้นทาง

การสำรวจขยะ และทำความสะอาด

ท็อดด์ คลาดี้ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ในลอสแอนเจลิส เล่าว่า ในระหว่างที่เขาเดินจากอพาร์ตเมนต์ไปที่สถานีรถไฟใต้ดิน เพื่อไปทำงาน ซึ่งใช้เวลาเดินเพียงไม่ถึง 10 นาที บางครั้งเขาก็พบขยะพีพีอีตกอยู่ระหว่างทางแล้ว และในเดือนนี้เขาพบหน้ากากอนามัยตกทิ้งอยู่ตามทางถึง 24 ชิ้น ถุงมือยางอีก 2 ชิ้น และทิชชูเปียกแอลกอฮอล์ ถูกทิ้งเรี่ยราดอีกนับไม่ถ้วน แม้จะมีป้ายเตือนว่าอย่าทิ้งขยะลงในทะเลตั้งอยู่แถวนั้นก็ตาม

ด็อกเตอร์คลาดี้ คาดว่า หน้ากากอนามัยที่ตกอยู่ บางทีอาจจะหลุดจากข้อมือในช่วงที่ผู้คนเดินไปมา และเมื่อมันตกพื้นแล้วก็ไม่มีใครสนใจที่จะเก็บมันขึ้นมาใช้งานอีก นอกจากนี้ถังขยะส่วนใหญ่ก็มักจะเต็มจนล้น เมื่อวางหน้ากากอนามัยที่มีน้ำหนักเบาเอาไว้ด้านบน มันก็จะปลิวตกลงมา

ในเนเธอร์แลนด์ ลิเซลอตเต แรมบอนเน็ต นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยไลเดน และอุค ฟลอเรียน เฮมสตรา นักชีววิทยาจากศูนย์ความหลากหลายทางธรรมชาติ ได้ร่วมมือกันเก็บสถิติของหน้ากากอนามัย รวมทั้งถุงมือยาง ที่ถูกทิ้งไว้ตามถนนและแม่น้ำลำคลอง และติดตามดูปฏิกิริยาของสัตว์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากขยะเหล่านี้ พร้อมกับเป็นแกนนำในการเก็บขยะทางการแพทย์ โดยข้อมูลที่พวกเขาพบมีทั้ง ปลาเพิร์ช ที่เคราะห์ร้ายไปติดอยู่ในถุงมือยาง นกที่นำเอาขยะพีพีอีไปสร้างเป็นรัง ซึ่งทุกวันนี้รังนกโดยรอบคลองอัมสเตอร์ดัมมักจะพบว่ามีชิ้นส่วนของหน้ากากอนามัยติดอยู่ด้วยเสมอ ซึ่งหน้ากากอนามัยที่พบก็มีทั้งอันใหม่ อันเก่า แบบที่สีซีดแล้ว หรือบางชิ้นก็แปรสภาพจนกลมกลืนไปกับใบไม้ที่ร่วงอยู่ตามพื้น โดยพวกเขาต่างแสดงความกังวลว่าขยะทางการแพทย์จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก หลังจากที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เพิ่งประกาศคำสั่งให้ประชาชนสวมหน้ากากกันอีกครั้ง

...

นอกจากนี้ นักวิจัยจากทั่วโลกยังร่วมกันรวบรวมข้อมูลเรื่องขยะทางการแพทย์ ในเว็บไซต์ โควิดลิทเทอร์ดอทคอม (Covidlitter.com) ที่ทุกคนสามารถรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับขยะทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อสัตว์น้อยใหญ่ ทั้งกรณีที่มีคนไปพบแมวน้ำขนสีน้ำตาลในนามิเบียถูกหน้ากากอนามัยพันที่ใบหน้า นกพัฟฟินถูกหน้ากากอนามัยรัดจนตายบนชายหาดไอริช และการที่นักวิทย์ไปพบหน้ากากอนามัยในกระเพาะของเต่าทะเลในออสเตรเลีย



ส่วนในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก็มีความพยายามในการบริหารจัดการขยะเหล่านี้อยู่เช่นกัน โดยทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเทมส์ 21 ต่างช่วยกันเก็บขยะโควิดจากสองฝั่งแม่น้ำ ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน ทางกลุ่มได้มีการสำรวจชายฝั่งเป็นระยะทางมากกว่า 1 กิโลเมตร และพบขยะพีพีอีมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่พบทั้งหมด 

เด็บบี้ ลีช หัวหน้าคณะผู้บริหารของกลุ่ม ระบุว่า ก่อนหน้าการระบาดของโควิด-19 พวกเขาไม่เคยพบขยะหน้ากากอนามัยสักชิ้น แต่ทุกวันนี้พวกเขาต้องหาทางในการกำจัดขยะเหล่านี้ และต้องนำขยะพีพีอีไปเข้าเตาเผา หรือไปฝัง แต่ก็ยังพบชิ้นส่วนอีกจำนวนมากกระจายไปทั่วจากการทิ้งขยะ โดยเธอแสดงความเป็นห่วงอย่างมาก หากขยะเหล่านี้ถูกทิ้งลงแหล่งน้ำ เพราะเป็นการยากที่จะเก็บกู้ขึ้นมาได้

...

ขณะที่นักวิจัยในแคนาดา มีการประมาณการว่า แค่เพียงหน้ากากอนามัยเพียง 1 ชิ้น ที่ถูกทิ้งบนชายฝั่งทะเล ก็สามารถปล่อยไมโครพลาสติกมากกว่า 16 ล้านชิ้นสู่ธรรมชาติแล้ว ซึ่งมันเล็กมากจนไม่สามารถที่จะเก็บ หรือกำจัดได้

รณรงค์ต่อต้านการทิ้งขยะ

มาร์ติน ธีล นักชีววิทยาทางทะเลของชิลี ระบุว่า บริเวณริมชายหาดเต็มไปด้วยป้ายที่แจ้งให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัย แต่กลับไม่มีคำแนะนำว่าควรจะทิ้ง หรือจัดการกับของที่ใช้แล้วยังไง ทำให้เห็นหน้ากากอนามัยถูกทิ้งเกลื่อน แทรกอยู่ตามพื้นทราย ในทะเลและพันอยู่กับสาหร่ายทะเล และเพิ่มจำนวนสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ

ในปัจจุบันมีชายหาดเพียงไม่กี่แห่ง ที่มีถังขยะเฉพาะสำหรับใส่ขยะทางการแพทย์ โดยจะมีรูปร่างเฉพาะที่ไม่เหมือนกับถังขยะทั่วไป โดยปากถังจะเป็นช่องสามเหลี่ยมแคบๆ มีฝาปิดเพื่อป้องกันขยะถูกลมพัดปลิวออกมา ซึ่งในเอกสารทางสิ่งแวดล้อมที่ตีพิมพ์ในปีนี้ ด็อกเตอร์ ธีล และทีมวิจัย ได้แนะนำให้แต่ละชุมชนติดตั้งภาชนะ หรือถังขยะในลักษณะนี้ให้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการติดตั้งป้ายเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในชุมชน จากการทิ้งขยะจากโควิดอย่างไม่ถูกวิธี เพราะสิ่งสำคัญจริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงการปกป้องตัวเองเท่านั้น แต่ต้องร่วมกันปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมในชุมชนด้วย

...

เมืองฮุสตันเป็นเมืองแรกๆ ที่เริ่มการรณรงค์เรื่องนี้แล้ว โดยในเดือนกันยายน ปี 2020 มีการรณรงค์ต่อต้านการทิ้งเศษขยะ โดยมุ่งเป้าที่การจัดการกับขยะอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล โดยใช้ป้ายโปสเตอร์ที่มีภาพของหน้ากากอนามัยที่สกปรกตกอยู่บนหญ้า และโปสเตอร์ที่มีข้อความว่า "อย่าปล่อยให้เมืองฮุสตันกลายเป็นเมืองแห่งขยะ" เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล 123 ซึ่งก็คือ 1.การเว้นระยะห่าง 2.การสวมหน้ากาก และ 3.การทิ้งให้ถูกวิธี

มาร์ธา คาสเท็กซ์ ทาทัม รองนายกเทศมนตรีของเมืองฮุสตัน หัวหอกในการรณรงค์โปรเจกต์นี้ ระบุว่า ในช่วงแรกของการระบาด หลายฝ่ายต่างกังวลเกี่ยวกับการจัดการขยะทางการแพทย์จำนวนมากเหล่านี้แบบไม่ถูกวิธี ว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วเมืองหรือไม่ ซึ่งเมื่อเกิดการแพร่ระบาดขึ้น การรณรงค์ดังกล่าวก็ช่วยให้การควบคุมโรคทำได้ดี โดยมีการขึ้นโปสเตอร์รณรงค์บนบิลบอร์ด โทรทัศน์จอยักษ์ของสนามกีฬา และตามข้างรถเก็บขยะ นอกจากนี้ทางสภาท้องถิ่นยังนำถังขยะเพื่อทิ้งอุปกรณ์ป้องกันโรคเหล่านี้เพิ่มเติมอีก 3,200 ถัง และรณรงค์ให้ประชาชนใช้งานมัน

ความพยายามที่จะนำมารีไซเคิล

ในขณะที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วแอฟริกาใต้ นักช็อปต่างดึงทิชชูเปียก หรือทิชชูแอลกอฮอล์ ที่ตั้งให้บริการไว้เป็นปึก ในขณะที่เข้าไปในห้าง เพื่อนำไปเช็ดด้ามจับของรถเข็น ก่อนจะเข็นเข้าไปซื้อของ โดยแอนเน็ต เดเวนิช ผู้จัดการฝ่ายการตลาดของซานิ ทัช ผู้ผลิตและจำหน่ายทิชชูเปียกที่นำไปให้บริการลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการภายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ระบุว่า การใช้ทิชชูเปียกเพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ในช่วงก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะลดลง แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงมาก หากเทียบกับช่วงก่อนการระบาด

นักสิ่งแวดล้อมจำนวนมากมักจะต่อต้านการใช้ทิชชูเปียก เพราะมันจะสร้างปัญหาตามมาจากการที่ไปอุดตันท่อระบายน้ำ เมื่อถูกทิ้งลงไปในชักโครก นอกจากนี้ทิชชูเปียก หรือทิชชูแอลกอฮอล์ ยังกลายสภาพมาเป็นไมโครพลาสติกที่เข้าไปปะปนในห่วงโซ่อาหาร 

นางสาวเดเวนิช ระบุว่า ในเวลานี้ทางบริษัทกำลังเร่งหาทางที่จะทำให้ทิชชูเปียกสามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือย่อยสลายได้ โดยในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ ทางซานิ ทัช จะเริ่มเปิดตัวโปรเจกต์ที่จะนำทิชชูเปียกกลับมาใช้ซ้ำ โดยลูกค้าสามารถนำทิชชูเปียกมาทิ้งไว้ในที่ที่ทางห้างจัดไว้ให้ ก่อนที่จะออกจากห้าง จากนั้นบริษัทรีไซเคิลจะนำผ้าที่ใช้แล้วซึ่งเป็นผ้าโพลีโพรพีลีนไปเปลี่ยนเป็นพาเลทพลาสติก เพื่อใช้ในโรงงานของซานิ ทัช

ส่วนเรื่องของการรีไซเคิลหน้ากากอนามัยสำหรับใช้แล้วทิ้ง ซึ่งประกอบด้วยวัสดุประเภทโลหะ และยางยืดอีลาสติก ดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่า โดยเดเวนิช ระบุว่า เธอหวังว่าจะสามารถนำหน้ากากอนามัยมายัดไว้ในขวดพลาสติกจนเต็ม และนำมาใช้เป็น "อีโคบริกส์" หรือก้อนอิฐเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสร้างเป็นม้านั่ง โต๊ะ ถังขยะ หรือสินค้าราคาประหยัดอื่นๆ ได้

ขณะที่เมืองปูเน่ของอินเดีย ก็มีความคืบหน้าในเรื่องการรีไซเคิลขยะจากอุปกรณ์ป้องกันโรคเหล่านี้ โดยศูนย์วิจัยทางเคมีแห่งชาติได้ตั้งทีมทำงานขึ้นมา พร้อมกับตั้งโรงงานกำจัดขยะทางการแพทย์ โดยร่วมกับบริษัทเอกชน เพื่อนำร่องที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันตัวเองตั้งแต่หัวจดเท้ามาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าประเภทอื่น แม้ว่าในขั้นตอนนำร่อง สินค้าดังกล่าวจะยังไม่สามารถนำมาผลิตเพื่อจำหน่ายได้ แต่คาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน  

ส่วนที่แคนาดา ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2020 รัฐบาลแคนาดาได้ขอความร่วมมือของบริษัทต่างๆ ให้ร่วมกันระดมสมองเพื่อหาทางรีไซเคิลพีพีอี หรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ย่อยสลายได้เอง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนทุนให้แก่บริษัทที่คิดค้นหาแนวทางที่นำไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 แนวทางต้นแบบ หวังว่าจะเพิ่มแนวทางให้แก่การบริหารจัดการขยะปริมาณมหาศาลเหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว เพราะไม่มีใครรู้ว่าเราจะต้องอยู่กับการระบาดของโรคร้ายนี้ไปอีกนานเพียงใด. 

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล