- มลภาวะทางอากาศในกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย กลับมาพุ่งสูงอีกครั้ง โดยเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากการเผาไร่ของเกษตรกรเพื่อเตรียมเพาะปลูกรอบใหม่
- คุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ลง ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องใช้มาตรการฉุกเฉิน สั่งปิดโรงเรียนในนิวเดลีอย่างไม่มีกำหนด และกำลังพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์ช่วงสุดสัปดาห์ด้วย
- อย่างไรก็ตาม นิวเดลีเจอปัญหาสภาพอากาศเรื้อรังมานานหลายสิบปีแล้ว และผลวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ปัจจัยจากภายนอกมีผลให้เกิดมลพิษในเมืองหลวงแห่งนี้ไม่มากนัก
กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย กลับมาเผชิญปัญหามลภาวะในอากาศพุ่งสูงอีกครั้งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ทางการต้องใช้มาตรการฉุกเฉินหลายอย่าง รวมถึงการปิดโรงเรียนและล็อกดาวน์ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและแก้ปัญหามลพิษ
นิวเดลีเพิ่งมีเดือนตุลาคมที่อากาศสะอาดที่สุดในรอบหลายปี เนื่องจากมรสุมมาช้า แต่ใครจะรู้ว่านั่นคือความสงบก่อนพายุจะมา เพราะหลังจากเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ระดับมลพิษในเมืองหลวงแห่งนี้ก็พุ่งสูงขึ้น โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาไร่ของเกษตรกร เพื่อปรับหน้าดินสำหรับการเพาะปลูกครั้งต่อไป
นอกจากนั้น การจุดพลุจำนวนมากในเทศกาลทิวาลีเมื่อช่วงต้นเดือน ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มลพิษพุ่งขึ้นเช่นกัน แต่เรื่องนี้เป็นความจริงแค่ไหน และอะไรเป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้นิวเดลีต้องเผชิญปัญหามลภาวะทางอากาศเรื้อรังมานานหลายสิบปี
...
การเผาไร่ปรับหน้าดิน และฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ประเทศอินเดียมีฤดูทำการเกษตรปีละ 3 ครั้ง ได้แก่ คาริฟ (ฤดูมรสุม), ราบี (ฤดูหนาว) และซาอิด (ฤดูร้อน)
ตามปกติในฤดูคาริฟชาวสวนจะปลูกพืชที่จำเป็นต้องใช้น้ำมากๆ โดยเริ่มหว่านเมล็ดในเดือนมิถุนายนและเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคม ต่อมาในฤดูราบี ชาวไร่จะปลูกพืชที่ต้องการอากาศเย็นและน้ำน้อยกว่า โดยจะเริ่มหวานเมล็ดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน
แต่ในปีนี้ มรสุมมาช้ากว่าปกติ ทำให้ชาวสวนเริ่มเพาะปลูกช้า รัฐบาลต้องเลื่อนการรับซื้อสินค้าเกษตรถึง 10 วัน เพราะความชื้นเกินกำหนด การเก็บเกี่ยวที่ช้าลงยังหมายความว่า เวลาสำหรับหว่านเมล็ดเพื่อเพาะปลูกครั้งต่อไปก็น้อยลงด้วย ทำให้ชาวสวนจำนวนมากเลือกเผาไร่เพื่อปรับหน้าดิน ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาเชื่อกันว่า สามารถแก้ปัญหาศัตรูพืชและเชื้อราได้ด้วย
ควันไฟจากการเผาไร่เฉพาะที่รัฐข้างเคียงอย่าง ปัญจาบ และหรยาณา ซึ่งมีการเผาไร่ถึง 33,000 จุดในช่วง 8 วันแรกของเดือนพฤศจิกายน มากที่สุดในรอบ 5 ปี รวมทั้งควันไฟจากภูมิภาคในอ่าวเบงกอลทางตอนใต้ ถูกลมพัดลอยขึ้นเหนือปกคลุมพื้นที่ต่างๆ รวมถึงนิวเดลี และถูกกักไว้ที่นั่น เนื่องจากมีแนวเขาหิมาลัยกั้นอยู่จนควันไม่อาจกระจายไปที่ใดได้
ดอกไม้ไฟในเทศกาลทิวาลี มีส่วนหรือไม่?
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ชาวอินเดียทั่วประเทศ ร่วมงานเทศกาล ทิวาลี หรือเทศกาลแห่งแสง ซึ่งแสดงถึงความดีชนะความชั่ว มีการจุดพลุดอกไม้ไฟมากมาย แม้ทางการจะสั่งห้ามจำหน่ายแล้วก็ตาม ทำให้ระดับคุณภาพอากาศในนิวเดลีที่แย่อยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก
ผลการวิจัยในปี 2561 ชี้ว่า การจุดดอกไม้ไฟในเทศกาลทิวาลี มีผลต่อคุณภาพอากาศน้อย แต่มีนัยสำคัญ โดยการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2556-2559 พบว่า การจุดพลุทำให้ความหนาแน่นของ PM 2.5 พุ่งขึ้นเกือบ 40% ในวันที่ 2 ของเทศกาลทิวาลี ก่อนที่ระดับจะลดลงสู่ค่าดั้งเดิมหลังงานจบลง
ขณะที่รายงานของศูนย์วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้มในกรุงนิวเดลีชี้ว่า ไม่ใช่ดอกไม้ไฟทุกประเภทที่จะสร้างฝุ่นละออง PM 2.5 จำนวนมาก แต่บางประเภทกลับมีสารอันตรายอย่างอื่น โดยเฉพาะโลหะหนัก ซึ่งบางชนิดเป็นแบบเดียวกับที่ท่อไอเสียรถยนต์ปล่อยออกมา
สาเหตุของมลพิษในอินเดีย
เป็นความจริงที่ว่า การเผาไร่หรือการจุดดอกไม้ไฟจำนวนมากทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง แต่ผลกระทบของมันผันแปรไปในแต่ละวัน โดยรายงานของรัฐบาลอินเดียเมื่อ 15 พ.ย. ชี้ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน การเผาไร่มีส่วนทำให้ค่า PM 2.5 ในนิวเดลีเพิ่มขึ้นเพียง 10% เท่านั้น แต่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นกลับมีผลถึง 48%
นอกจากนั้น นิวเดลียังเจอปัญหาสภาพอากาศเรื้อรังมานานหลายสิบปีแล้ว และผลวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ปัจจัยจากภายนอกมีผลให้เกิดมลพิษในเมืองหลวงแห่งนี้ไม่มากนัก
กระทรวงสิ่งแวดอินเดียระบุเมื่อไม่กี่ปีก่อนว่า รัฐข้างเคียงมีส่วนก่อมลภาวะในนิวเดลีเพียง 20% เท่านั้น ส่วนที่เหลือมาจากปัจจัยภายในของนิวเดลีเอง ขณะที่ศูนย์วิทยาศาสตร์บรรยากาศ และสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย เดลี (IIT Delhi) เผยว่า สิ่งที่มีส่วนต่อการปล่อยมลภาวะมากที่สุดคือ ยานพาหนะ ตามด้วย อุตสาหกรรมต่างๆ, โรงงานไฟฟ้า และปัจจัยภายในเมือง
ส่วนแถลงการณ์ร่วมฉบับล่าสุดของ สถาบันเทคโนโลยีอินเดียกานปูร์ (IIT Kanpur), คณะกรรมการควบคุมมลภาวะเดลี กับสำนักงานสิ่งแวดล้อมกรุงนิวเดลี ที่ออกเมื่อปี 2559 ระบุว่า ปัจจัยใหญ่สุดที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศคือ ฝุ่นบนท้องถนน มีส่วนถึง 56% ที่ทำให้ค่า PM 10 และ 38% สำหรับค่า PM 2.5 การศึกษาเหล่านี้ยังกล่าวโทษการเผาไร่ของเกษตรกร แต่พบว่าปัจจัยอย่างฝุ่นบนถนน, ยานพาหนะ และอุตสาหกรรม มีผลมากกว่า
...
เตรียมล็อกดาวน์แก้ปัญหา
นิวเดลียังคงมีระดับ PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกมาก โดยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา พื้นที่ทางตะวันออกของเดลีมี PM 2.5 หนาแน่นกว่า 300 ไมโครกรัมต่อตารางเมตรมาตลอด ซึ่งจัดว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย
เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ทางการกรุงนิวเดลีและหลายรัฐข้างเคียงจึงออกคำสั่งปิดโรงเรียนอย่างไม่มีกำหนด, สั่งห้ามทำการก่อสร้าง และแจ้งลูกจ้างรัฐบาลให้ทำงานจากที่บ้านจนถึง 21 พ.ย. นอกจากนั้นมุขมนตรีกรุงนิวเดลีกำลังพิจารณาการใช้ล็อกดาวน์ในช่วงสุดสัปดาห์ด้วย แต่ยังไม่ระบุว่าจะเริ่มเมื่อไร
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : bbc, theprint, hindubusinessline
...