การใช้กล้องโทรทรรศน์วีแอลที (Very Large Telescope–VLT) ของหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรป ที่ตั้งอยู่ในทะเลทรายอาตากามาของชิลีตรวจดูท้องฟ้ากว้าง ทำให้นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบสิ่งต่างๆมากมายในอวกาศอันไกลโพ้น ล่าสุดมีการค้นพบหลุมดำเล็กๆนอกดาราจักร หรือกาแล็กซีทางช้างเผือกของเราอีกครั้ง
นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส ในอังกฤษ เผยว่า หลุมดำขนาดเล็กๆที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ แอบซ่อนตัวอยู่ใน NGC 1850 ที่เป็นกระจุกดาวคู่และมหากระจุกดาวในกลุ่มดาวปลากระโทงแทง เหล่ากระจุกดาวหลายพันดวงนี้อยู่ห่างเราออกไปประมาณ 160,000 ปีแสง โดยอยู่ในกาแล็กซีเมฆแมกเจลแลนใหญ่ อันเป็นกาแล็กซีเพื่อนบ้านข้างเคียงหรือจะเรียกว่าบริวารของทางช้างเผือกก็ว่าได้ หลุมดำดังกล่าวมีมวลประมาณ 11 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งการตรวจพบหลุมดำใน NGC 1850 นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบหลุมดำในกระจุกดาวอายุน้อย เนื่องจากกระจุกดาวแห่งนี้มีอายุเพียงประมาณ 100 ล้านปี
ส่วนที่ว่าทำไมต้องสนใจกับหลุมดำนี้ นักดาราศาสตร์เผยว่า หลุมดำเล็กๆนี้จะเป็นตัวอย่างในการศึกษาว่ามันมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนที่ของดาวฤกษ์ในบริเวณใกล้เคียงอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าการใช้วิธีตรวจหาแบบนี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดเผยหลุมดำที่ซ่อนอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีใกล้เคียง แถมยังช่วยไขความกระจ่างว่าวัตถุลึกลับอย่างหลุมดำก่อตัวและวิวัฒนาการอย่างไร.
Credit : ESO/M. Kornmesser
...