เข้าสู่โค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ซึ่งมีกำหนดวันปิดประชุม 12 พ.ย. ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดว่าข้อตกลงฉบับเต็มจะเป็นเช่นไร หลังเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ได้มีการเผยแพร่ฉบับร่างความยาว 7 หน้ากระดาษ เรียกร้องให้ประเทศต่างๆทบทวน และเพิ่มความเข้มข้นของแผนการลดการปล่อยก๊าซมลพิษในปี 2565 กำหนดกลยุทธ์ระยะยาวในสิ้นปี 2565 เพื่อให้บรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 หวังควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สิ่งที่ทุกคนกำลังจับตา คือร่างข้อตกลง COP26 ว่าจะถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลดความเข้มข้นลงหรือไม่ เพราะเนื้อหาสาระของข้อตกลงต้องได้รับความเห็นชอบและลงนามรับรองจากชาติภาคีเกือบ 200 ประเทศ และข้อตกลงฉบับร่างได้มีรายละเอียดเรื่องการลดพลังงานถ่านหินอย่างเข้มข้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อชาติยักษ์ใหญ่ ที่ยังคงพึ่งพาและสร้างรายได้จากพลังงานถ่านหิน

ขณะที่อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องเงินทุน ที่ชาติร่ำรวยต้องจ่ายช่วยเหลือชาติกำลังพัฒนา หลังมีเสียงเรียกร้องว่าควรจะต้องเพิ่มวงเงินและจ่ายเพิ่มขึ้น เพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายด้านพลังงานของบรรดาชาติที่ขาดเงินทุนเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว และนำไปสู่เป้าลดคาร์บอนอย่างสมบูรณ์ จากเดิมที่เคยให้คำมั่นกันไว้ที่ปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังทำกันไม่สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 พ.ย. ตัวแทนสหรัฐฯและจีน ที่ผลัดกันแลกวิวาทะมาตั้งแต่เริ่มการประชุม 31 ต.ค. ได้สร้างความประหลาดใจแก่เวทีโลก หลังประกาศจุดยืนร่วมมือสหรัฐฯ-จีน ว่าจะร่วมทำงานกันอย่างใกล้ชิด ในเรื่องการลดปล่อยก๊าซมลพิษภายในทศวรรษ หรือ 10 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงกรุงปารีส 2558 ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ร่วมแสดงความยินดีต่อแถลงการณ์ว่า เป็นเรื่องสำคัญที่มาถูกทาง ทั้งนี้ จีนและสหรัฐฯปล่อยคาร์บอนมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก

...

ส่วนสำนักข่าวบีบีซี อังกฤษ รายงานด้วยว่า การประชุมในวันที่ 11 พ.ย. ได้ถูกกำหนดให้เป็น “วันแห่งเมือง” เพื่อเรียกร้องให้มหานคร เมืองใหญ่ในประเทศต่างๆ ช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นต่อเป้าหมายปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เพราะอย่างอังกฤษเองก็พบว่าอาคารบ้านเรือนตามเมืองต่างๆ มีการปล่อยก๊าซมลพิษคิดเป็นสัดส่วนถึง 16 เปอร์เซ็นต์.