ซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลรอยเท้าที่พบในเหมืองถ่านหินอิปสวิช ทางตะวันตกของนครบริสเบน ของออสเตรเลีย เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว เชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าของไดโนเสาร์ที่กินเนื้อ และมีลักษณะคล้ายแร็ปเตอร์ขนาดใหญ่ ล่าสุดทีมวิจัยนานาชาติ นำโดย ดร.แอนโธนี โรมิลิโอ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย ได้กลับไปวิเคราะห์รอยเท้าเหล่านั้นอีกครั้ง

ทีมวิจัยได้สร้างแบบจำลอง 3 มิติเสมือนจริงของรอยเท้าไดโนเสาร์ทั่วโลกเพื่อศึกษา ซึ่งยิ่งพิจารณารูปร่าง สัดส่วนของรอยเท้าและนิ้วเท้ามากเท่าไร ก็พบว่าฟอสซิลรอยเท้าเหล่านี้ยิ่งดูเหมือนรอยเท้าของไดโนเสาร์ที่กินเนื้อสัตว์อื่นๆน้อยลงเรื่อยๆ พวกเขาจึงฟันธงว่าไดโนเสาร์ปริศนาตัวนี้น่าจะเป็นชนิดกินพืชและมีความเป็นมิตรกว่ามาก ผลวิจัยใหม่ระบุว่า แท้ที่จริงแล้วฟอสซิลรอยเท้าเป็นของโปรซอโรพอด (Prosauropod) ไดโนเสาร์กินพืช คอยาว มีขนาดเล็กกว่า ขาของมันอาจยาวประมาณ 1.4 เมตร ลำตัวยาว 6 เมตร และเป็นไดโนเสาร์ที่ขี้อาย

นอกจากนี้ การวิจัยใหม่ได้ย้อนกลับไปถึงใกล้จบยุคไทรแอสสิกเมื่อประมาณ 220 ล้านปีก่อน ที่น่าทึ่งคือฟอสซิลรอยเท้าดังกล่าวเป็นหลักฐานแรกสุดของไดโนเสาร์ชนิดนี้ในออสเตรเลีย และรอยเท้าไดโนเสาร์เหล่านี้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ควีนส์แลนด์ ในนครบริสเบน.

Credit : Anthony Romilio