นักวิทยาศาสตร์ออกซ์ฟอร์ด ค้นพบยีนซึ่งอาจทำให้ ความเสี่ยงเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยพบมากในผู้สืบเชื้อสายเอเชียใต้

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ในสหราชอาณาจักร ค้นพบว่าในร่างกายมนุษย์บางคน มียีนตัวหนึ่งที่อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ สามารถเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเท่าตัว ทำให้พวกเขาเริ่มเข้าใจว่าทำไมมนุษย์บางคนจึงมีความไวต่อไวรัสชนิดนี้มากกว่าคนอื่น และยังเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ในการพัฒนายาที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงด้วย

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เปิดเผยในวันศุกร์ที่ 5 พ.ย. 2564 ว่า ผู้ที่สืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษชาวเอเชียใต้ราว 60% มียีนที่ถูกเรียกว่า ‘LZTFL1’ ชนิดความเสี่ยงสูงกว่าปกติอยู่ในร่างกาย ส่วนอัตราของผู้ที่สืบเชื้อสายจากชาวยุโรป, แอฟริกัน-แคริบเบียน และเอเชียตะวันออก จะมียีนแบบนี้อยู่ที่ราว 15%, 2% และ 1.8% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการอธิบายบางส่วนด้วยว่า ทำไมจึงมีผู้เสียชีวิตมากมายในบางชุมชนของอังกฤษ และทำไมโควิด-19 จึงส่งผลกระทบอย่างหนักในอนุทวีปอินเดีย

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นผลจากการมียีนที่มีรหัสโปรตีนแตกต่างกัน แต่เป็นเพราะความแตกต่างของดีเอ็นเอซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณเป็นเหมือนสวิตช์ เปิดปิดการทำงานของยีน โดยพวกเขาตั้งทฤษฎีว่า ยีน LZTFL1 ชนิดความเสี่ยงสูง จะทำให้กลไกป้องกันของเซลล์เยื่อบุในหลอดลมและปอด ที่ตามปกติจะถูกใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัส ทำงานผิดปกติ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า หากกลไกป้องกันดังกล่าวเป็นปกติ เมื่อเซลล์เยื่อบุปอดมีปฏิสัมพันธ์กับไวรัสโคโรนา มันจะเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญน้อยลง และยอมรับไวรัสเข้ามายากขึ้น โดยกระบวนการนี้จะลดจำนวนโปรตีน ACE-2 บนผิวเซลล์ ซึ่งเป็นตัวรับสำคัญที่ไวรัสโคโรนาใช้เชื่อมติดกับเซลล์ แต่สำหรับผู้มียีน LZTFL1 ชนิดความเสี่ยงสูง กลไกนี้อาจทำงานผิดปกติ จนเซลล์ปอดไม่มีการป้องกันตัวจากไวรัส

...

อย่างไรก็ตาม พวกเขาย้ำว่ายีน LZTFL1 ส่งผลกระทบต่อปอด แต่ไม่กระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน หมายความว่า ผู้ที่มียีนความเสี่ยงสูงนี้ ยังสามารถป้องกันไวรัสได้ ด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน