เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งตรงกับวันเปิดประเทศเรา เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวนี่แหละครับ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐอเมริกา ที่ติดตามตัวเลขการระบาดของไวรัสมหาภัยโควิด-19 มาอย่างละเอียดยิบจากทุกประเทศทั่วโลก...แถลงว่า ผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นจากไวรัสสายพันธุ์นี้ทะลุ 5 ล้านรายไปแล้ว
โดยใช้เวลา 1 ปีกับ 7 เดือน โดยประมาณ นับตั้งแต่วันที่องค์การ อนามัยโลกหรือ WHO ประกาศให้วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2020 เป็นวันเริ่มระบาดสู่โลกกว้าง หลังจากที่มีข่าวระบาดที่เมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐ ประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 เป็นต้นมา
1 ปี 7 เดือน หรือ 19 เดือน ทำให้มนุษย์ต้องล้มหายตายจากไปถึงกว่า 5 ล้านชีวิต...นับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่อย่างสุดประมาณได้ของโลกอีกครั้งหนึ่ง
แต่ผู้เชี่ยวชาญของหลายๆประเทศ รวมทั้งของ WHO เองเชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงๆอาจจะมากกว่านี้ 2 ถึง 3 เท่าด้วยซ้ำ เพราะในช่วงระบาดหนักๆนั้น หลายๆประเทศบันทึกตัวเลขไว้ต่ำกว่าเป็นจริง
นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกตามความเป็นจริงน่าจะอยู่ที่ 16.7 ล้านคน มากกว่าตัวเลขของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ แถลงไว้ถึงกว่า 3 เท่าตัว
จากตัวเลขล่าสุดประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ รายงานว่า ยอดรวมของผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งสิ้น 5,020,470 หรือ 5 ล้าน 2 หมื่นรายเศษ
โดยมี สหรัฐฯ เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยตัวเลข 767,436 ราย หรือ 7 แสน 6 หมื่นกว่าราย มากกว่าทหารอเมริกัน ที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวม 405,399 ราย ถึงเกือบเท่าตัว
อันดับ 2 ได้แก่ บราซิล 607,954 ราย, อันดับ 3 อินเดีย 458,470 ราย, อันดับ 4 เม็กซิโก 288,365 ราย, อันดับ 5 รัสเซีย 239,693 ราย
...
อันดับ 6 เปรู 200,270 ราย, อันดับ 7 อินโดนีเซีย 143,423 ราย, อันดับ 8 สหราชอาณาจักร 140,072 ราย, อันดับ 9 อิตาลี 132,120 ราย และอันดับ 10 โคลอมเบีย 127,311 ราย
สำหรับกลุ่ม อาเซียน ของเรานั้น อันดับ 1 ก็คือ อินโดนีเซีย 143,423 ราย ซึ่งเป็นอันดับ 7 ของโลกด้วยดังได้กล่าวไว้แล้ว
ตามมาด้วย ฟิลิปปินส์ 43,276 (อันดับ 21 ของโลก), มาเลเซีย 28,975 ราย (อันดับ 27 โลก), เวียดนาม 22,131 ราย (อันดับ 34 โลก), ไทย 19,260 ราย (อันดับ 35 โลก)
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ ในวันเดียวกันนี้ ชี้ให้เห็นว่ายังมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกในแต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 5,000 คน และสื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างก็คาดว่า น่าจะอยู่ในตัวเลขนี้คือวันละ 5,000 คน บวกบ้างลบบ้างไปอีกนาน
เนื่องเพราะยังมีประชากรของโลกอีกมหาศาลที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
ตัวเลขของมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปทั่วโลกแล้วกว่า 7 พันล้านโดส แต่ “ช่องว่าง” ของการได้รับวัคซีนก็เป็นไปอย่างน่ากังวลใจอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะในประเทศยากจน ที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยค่อนข้างน้อย และไม่มีเงินพอที่จะซื้อวัคซีนได้นั้น ประชากรในประเทศที่ว่านี้ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงแค่ 3.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
ประเด็นนี้เองที่ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมาก ยังตักเตือนว่าจะต้องระมัดระวังต่อไปอีก เพราะหากการระบาดยังไม่หยุดยั้งในประเทศรายได้ตํ่าด้วยเหตุผลเรื่องไม่มีวัคซีนฉีด ก็อาจเป็นไปได้ที่เชื้อโรคอาจจะหวน กลับไประบาดต่อในประเทศที่แม้จะฉีดวัคซีนครอบคลุมอย่างทั่วถึงอีกหน
นักวิเคราะห์รายงานด้วยว่า ขณะนี้หลายๆประเทศทั่วโลกเริ่มตัดสินใจเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกันแล้ว (รวมทั้งประเทศเราด้วย) ซึ่งก็เป็นความจำเป็นของประเทศนั้นๆทางด้านเศรษฐกิจ
แต่สื่อระดับโลกทุกสำนักก็มักจะทิ้งท้ายว่า ประเทศที่เปิดนั้น จำเป็นจะต้องระมัดระวังอย่างเข้มงวดไปด้วย...และจะประมาทมิได้เลย
ยังไม่รู้ว่ายอดการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของชาวโลก จะไปจบที่กี่ล้าน? แต่ ณ นาทีนี้เรารู้แล้วว่า ไวรัสร้ายสายพันธุ์นี้ ทำลายชีวิตชาวโลกไปถึง 5 ล้านคน เพียงแค่ 19 เดือนเท่านั้นเอง
ไม่ใช้คำว่า “อำมหิต” ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ถ้อยคำไหนมาบรรยายความร้ายกาจของโควิด-19...ได้อีกละครับ.
“ซูม”