สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ประกาศปฏิญญามีเทนโลก กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซมีเทนลง 30% ภายในปี 2573 เพื่อซื้อเวลาสู้ภาวะโลกร้อน

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า ที่การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) เมื่อวันอังคารที่ 2 พ.ย. 2564 นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนางเออร์ซูลา วอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศเปิดตัว ‘ปฏิญญามีเทนโลก’ (Global Methane Pledge) อย่างเป็นทางการแล้วหลังจากนำเสนอเป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน

ปฏิญญาดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อนให้ได้ 30% ของระดับการปล่อยในปี 2563 ภายในปี 2573 โดยตอนนี้มีประเทศต่างๆ ตกลงเข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศ ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนรวมกันราว 50% ของปริมาณทั้งหมด และคิดเป็น 70% ของจีดีพีโลก

ทั้งนี้ ความพยายามในการลดภาวะโลกร้อนในช่วงที่ผ่านมา ทั่วโลกมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เช่นการผลิตพลังงานและการตัดไม้ทำลายป่า แต่ตอนนี้โลกเริ่มหันมาให้ความสนใจก๊าซมีเทนมากขึ้น เพื่อซื้อเวลาในการแก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติม เพราะถึงแม้ว่าในบรรยากาศจะมี CO2 มากกว่า แต่ว่าแต่ละโมเลกุลของมีเทนมีผลทำให้บรรยากาศร้อนขึ้นมากกว่า

และในขณะที่หนึ่งในเป้าหมายหลักของการประชุม COP26 คือการทำให้ทุกประเทศปฏิบัติตามเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือ 0 ภายในปี 2593 นายไบเดนกับนางวอน แดร์ เลเยน ต่างเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้

“เราไม่อาจรอปี 2593 ได้” นางวอน แดร์ เลเยน กล่าว “เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเร็ว” ซึ่งการลดการปล่อยมีเทน เป็นหนึ่งในสิ่งที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่เราทำได้ เพื่อลดโลกร้อนในเวลาอันใกล้ ขณะที่นายไบเดนระบุว่า มีเทนเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบมากที่สุด

...