บรรยากาศในตัวเมืองดูเหมือนจะกลับมาคึกคัก มีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากวันที่ 1 พ.ย. ประเทศไทยได้อ้าแขนรับนักเดินทางจากต่างแดน
ขณะที่ประเทศอื่นๆก็ได้ดำเนินการในลักษณะนี้ไปแล้วในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพากันเรียกขานกันว่า “ฟรีดอม เดย์” วันเสรีภาพ และทำให้ภาพเก่าๆที่ห่างหายไปนาน ไม่ว่าการจราจรติดขัด คนต่อคิวเข้าห้างร้าน นั่งกินดื่มตั้งวงเสวนากันอย่างมีความสุข ปรากฏขึ้นตามเมืองต่างๆทั่วโลก
แต่แน่นอนว่าความกังวลของผู้คนยังไม่หายไปไหน มีเสียงตั้งคำถามกันพอตัวว่า กลัวที่จะต้องกลับไปอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์กันรอบใหม่ ซึ่งกระทบต่อปากท้อง รายได้ และสุขภาพทางจิต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เด่นชัด ณ เพลานี้ คือประเทศต่างๆเริ่มที่จะมีความชัดเจนแล้วว่าจะดำเนินการคืนความปกติสู่ประชาชนภายใต้แนวทาง “การอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ให้ได้” เหลือเพียงไม่กี่ประเทศ โดยเฉพาะ “จีน” ที่ใช้นโยบายความอดทนเป็นศูนย์ เจอเชื้อเมื่อใดต้องตัดห่วงโซ่ให้เร็วที่สุด ซึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเหนือของจีนรวมถึงเมืองหลวงกรุงปักกิ่งก็ต้องกลับมาเผชิญสถานการณ์ล็อกดาวน์แบบจำกัดวงกันอีกครั้ง
ดังนั้น จึงพอจะคาดคะเนได้หรือไม่ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยจะเหมือนกับกลุ่มมิตรประเทศตะวันตก หรือเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ฉีดวัคซีนครบโดสให้ประชากรเกิน 60 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือจับตาแค่ยอดผู้ล้มป่วยเข้าโรงพยาบาล-ยอดเสียชีวิตรายวัน และจะดำเนินการรับมือใดๆ ก็ต่อเมื่อตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างสหรัฐฯติดเชื้อเฉลี่ยสูงถึงวันละ 72,000 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 1,345 คน (ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยกลุ่มคนต้านการฉีดวัคซีน) แต่สำหรับผู้ล้มป่วยรุนแรง มียอดรวมอยู่ที่ 12,523 คน ระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับไหว หรืออังกฤษที่ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 40,700 คน เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 150 คน ยอดล้มป่วยรุนแรง 946 คน หรือสิงคโปร์ที่ยอดกำลังพุ่งสูง วันละกว่า 3,000 คน แต่เสียชีวิตวันละหลักสิบ ยอดล้มป่วยรุนแรง 60 คน
เห็นชัดว่า “วัคซีน” เป็นอาวุธที่ใช้รับมือกับไวรัสได้ดี ช่วยป้องกันสถานการณ์โรงพยาบาลล้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระนั้นสิ่งสำคัญคือวัคซีนต้องกระจายให้เพียงพอและร่วมด้วยช่วยกันกระตุ้นให้คนไปฉีดกันให้มากที่สุด มิฉะนั้น สุดท้ายแล้วอาจเป็นเหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีสำทับไว้ “มีปัญหาก็ต้องปิด” นั่นเอง.
...
ตุ๊ ปากเกร็ด