สำนักข่าวต่างประเทศรายงานความคืบหน้าการประชุมสุดยอดผู้นำชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ หรือกลุ่มจี 20 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งมีขึ้นไล่เลี่ยกับการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ที่มีสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ โดยเมื่อวันที่ 31 ต.ค. กลุ่มผู้นำจี 20 ได้มีการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อแสดงจุดยืนว่าปัญหาโลกร้อนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข และสนับสนุนการประชุม COP26 ที่เปิดประชุมอย่างเป็นทางการในวันเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า ประเทศกลุ่มจี 20 ซึ่งประกอบด้วย 19 ชาติ และสหภาพยุโรป มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน ตัวการของภาวะโลกร้อน คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของโลก และตลอดหลายปีที่ผ่านมา การหารือเรื่องโลกร้อนในการประชุมจี 20 มักไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วน 1 วันก่อนหน้านี้ ที่ประชุมจี 20 สนับสนุนการปฏิรูปจัดเก็บภาษีเพื่อให้บริษัทยักษ์ใหญ่จ่ายภาษีที่เป็นธรรมไม่ว่าตั้งกิจการที่ไหน โดยเรียกเก็บอัตราภาษีขั้นต่ำเท่ากันทั่วโลกที่อัตรา 15 เปอร์เซ็นต์ หลังองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) บรรลุข้อตกลงไปก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือน ต.ค. และเชื่อว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566.