ก๊าซมีเทน (CH4) จัดเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มก๊าซเรือนกระจกรองจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากเช่นกันมีเทนร้อนได้มากถึง 28 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งรู้กันว่าอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นแหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่สำคัญ

ทว่าในปี พ.ศ.2562 มีการค้นพบว่าก๊าซมีเทนเกิดรั่วไหลครั้งใหญ่ แต่แหล่งรั่วไหลกลับไม่เคยได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยในปีที่ผ่านมาองค์กรพลังงานระหว่างประเทศประเมินว่าปี พ.ศ.2563 มีการปล่อยก๊าซมีเทน 120,000 ล้านกิโลกรัม และราว 1 ใน 3 ของปริมาณมีเทนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์

แนวทางหนึ่งในการช่วยต่อสู้กับสภาพอากาศที่กำลังนิยมและมองว่าได้ผลคือ การใช้ดาวเทียมติดตามการรั่วไหลของก๊าซมีเทน เพราะข้อได้เปรียบที่สำคัญของดาวเทียมคือ การช่วยค้นหาแหล่งรั่วไหลของมลภาวะขนาดใหญ่ได้ในทันที เช่น บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Kayrros ในฝรั่งเศส เปิดเผยว่าได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเซนทิเนลของยุโรปช่วยค้นหาและติดตามการรั่วไหลของก๊าซมีเทน ซึ่งแผนที่ที่ผลิตโดย Kayrros ได้แสดงแถบสีเหลืองที่ชี้ให้เห็นถึงก๊าซมีเทนที่มีความเข้มข้นสูง สามารถมองเห็นได้ในทางตอนใต้ของอิรัก นอกจากนี้ แผนที่ดาวเทียมยังแสดงจุดสีที่กระจายไปทั่วโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงรัสเซีย แอลจีเรียถึงเติร์กเมนิสถาน ถือเป็นหลักฐานบ่งบอกว่าอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในแถบนั้นไม่ได้ถูกบำรุงรักษาอย่างรัดกุม

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศเผยว่าการใช้ดาวเทียมถือเป็นความก้าวหน้าล่าสุดและมีแนวโน้มสูงในการทำความเข้าใจถึงระดับการปล่อยก๊าซมีเทนทั่วโลก ซึ่งบริษัท Kayrros ก็ทำงานให้กับองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ รวมถึงผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ ที่ต่างต้องการปรับปรุงแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม

...

มีการคาดการณ์ว่าหากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ร่างข้อตกลงในการจัดการก๊าซมีเทน ก็จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซมีเทนอย่างน้อย 30% ภายในปี พ.ศ.2573 ซึ่งตอนนี้ก็มีหลายบริษัททั้งในยุโรป อเมริกา และแคนาดา พยายามปรับใช้กลุ่มดาวเทียมของตนให้สามารถตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย

โดยไม่ใช่แค่ตรวจหาแหล่งรั่วไหลใหญ่ๆ เท่านั้น แต่ยังตรวจจับการรั่วไหลที่มีขนาดเพียงเล็กน้อยได้เช่นกัน.

ภัค เศารยะ