จากข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) พบว่าทั่วโลกทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลราว 8 ล้านตัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อนกและสัตว์ทะเล ทำให้เกิดขยะที่มีขนาดเล็กมาก แล้วเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เฉพาะที่เซเนกัล ประเทศในแอฟริกาตะวันตก แม้ได้รับการยกระดับเศรษฐกิจกำลังพัฒนา แต่กลับไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการรีไซเคิลขยะ
ทั้งที่ประธานาธิบดี แม็คกี ซัลล์ แห่งเซเนกัล ต้องการให้ประเทศมีขยะเป็นศูนย์ แต่กฎหมายปี 2558 ที่เขียนไว้ว่าห้ามใช้ถุงพลาสติกก็เป็นเหมือนแค่คำสั่งไร้ความศักดิ์สิทธิ์
ถึงอย่างนั้นก็มีกลุ่มที่เรียกว่า Ocenium สมาคมนักดำน้ำอาสาสมัครในเซเนกัล มีกิจกรรมร่วมกันคือการดำน้ำลงไปเก็บขยะพลาสติกเพียงไม่กี่ ชม. นักประดาน้ำดำดิ่งลงทะเลบริเวณรอบๆเกาะโกรี นอกกรุงดาการ์ ซึ่งแต่ก่อนเป็นศูนย์กลางการค้าทาสแอฟริกัน แต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของเซเนกัล ไปเก็บขยะพลาสติกได้หลายร้อยกิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก และยังมีกระป๋องน้ำดื่ม เสื้อผ้าฉีกขาดและขยะอื่นๆ
นายมามาโดว อาลี กาดิอากา หนึ่งในสมาชิก Ocenium เผยว่า ชาวบ้านทิ้งทุกอย่างลงทะเล เพราะคิดว่ามันกว้างใหญ่ คุณต้องทำให้ชาวบ้านตระหนักและรับรู้ทำความเข้าใจถึงปัญหาว่า ทะเลไม่ใช่ถังขยะ
นายร็อดวัน เอล อาลี ผู้อำนวยการ Ocenium วัย 36 ปี เผยว่า ขยะพลาสติกในเซเนกัลเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมายาวนาน เพราะชาวบ้านมาเที่ยวริมหาด กินดื่มแล้วเมื่อไม่มีถังขยะ ก็ทิ้งไว้ที่หาดซึ่งถูกน้ำทะเลซัดไปกับกระแสน้ำ
อาลี เป็นสมาชิกชุมชนชาวเลบานอนที่มาอยู่ในเซเนกัลตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ กับน้องสาวเข้ามาดูแลกลุ่ม Ocenium ที่ก่อตั้งเมื่อ 35 ปีก่อน โดยนายไฮดาร์ พ่อของตัวเอง ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมเซเนกัล ปฏิบัติการงมทะเลเก็บขยะพลาสติกครั้งแรกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 โดยทำเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์ หากหาเงินกองทุนช่วยเหลือได้
...
แล้วโลกของเราก็มีกำหนดวันรณรงค์เพื่อโลกสะอาด หรือ World Cleanup Day ที่แม้ผ่านมาแล้ว (15 กันยาฯ) แต่เราก็สามารถช่วยโลก ช่วยทะเลได้ทุกวัน เหมือนที่ฟิลิปปินส์ และอีกหลายแห่งทั่วโลก แม้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอ่อนแอ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพิกเฉย
ก็น่าจะเหลือแต่ความรับผิดชอบส่วนบุคคลล้วนๆ ที่จะช่วยรักษ์ทะเลอย่างแท้จริง.
ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ