ผู้อ่านคงได้ยินเสียงโอดโอยโหยหวนจากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจากทุกประเทศเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ใช่สูงธรรมดา แต่สูงมาก โดยเฉพาะ 1.ค่าระวางเรือที่สูง 2.เวลาขนส่งที่นานมาก และ 3.พลังงานที่ราคาสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ตอนนี้ค่าระวางเรือเส้นทางไปยุโรปและสหรัฐฯปรับสูงขึ้น 5-10 เท่า ก่อนโควิด-19 ต้นทุนค่าระวางเรือมีเพียงร้อยละ 10-15 ตอนนี้คิดเป็นต้นทุนร้อยละ 20-30 แถมมีแนวโน้มว่าค่าระวางเรือจะปรับราคาสูงขึ้นไปจนถึงตรุษจีนปีหน้า หรือ พ.ศ.2565 บางเส้นทางค่าระวางเรือ “สูงเท่ากับ” หรือ “สูงมากกว่า” ราคาสินค้าที่ส่งออกไปซะอีก

ไม่เฉพาะราคาค่าระวางเรือสูงอย่างมากเพียงอย่างเดียวการขนส่งในปัจจุบันยังใช้เวลามากกว่าเดิม ยกตัวอย่างการขนส่งจากเอเชียไปสหรัฐฯ จากเดิมใช้เวลาเพียง 43 วัน ตอนนี้ต้องใช้เวลานานถึง 73 วัน บางครั้งล่าช้านานถึง 90 วัน นั่นหมายความว่าหากมีการสั่งสินค้าในวันนี้ กว่าจะส่งมอบได้ก็อาจจะใช้เวลาอย่างต่ำ 2-3 เดือน

ส่วนพลังงานตอนนี้ราคาสูงขึ้นมาก ที่สูงขึ้นเพราะบางภูมิภาคกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศจึงต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบจะปรับขึ้นไปประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ค่าระวางเรือและค่าพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ตอนนี้ก็ขอให้ผู้อ่านที่เคารพทำใจ ว่า ใน พ.ศ.2565 ราคาสินค้าทั้งหลายจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน ราคาสินค้าสูงอย่างนี้ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้ในอนาคต

เดี๋ยวนี้มีเงินก็ใช่ว่าจะส่งออกได้ง่ายเหมือนก่อน ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ยังแก้กันไม่ตก ปัญหาเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทำให้สหรัฐฯผลิตตู้คอนเทนเนอร์ลดลงมากกว่าร้อยละ 40 เหตุการณ์ผ่านมาจนถึงตอนที่โควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้หลายประเทศลดการนำเข้า ทำให้การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ลดลง และมีตู้สินค้าตกค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันปัญหาโควิด-19 ทำให้การหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ยิ่งช้า

...

แค่ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นทางเรือหลักของการส่งออกของไทย ตอนนี้ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ร้อยละ 5.5 พอตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนก็ส่งผลกระทบทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ฯลฯ

โลกใช้การขนส่งทางเรือมากถึงร้อยละ 80-90 ทำให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าทั่วโลกปวดหัวกันไม่จบ ที่น่าเห็นใจก็เพราะต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นและไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ราคาค่าขนส่งสินค้าชิ้นใหญ่อาจจะไม่กระทบมาก เพราะค่าขนส่งเป็นแค่ต้นทุนเล็กน้อย แต่พวกสินค้าชิ้นเล็กราคาไม่แพงนี่ ผมว่ากระทบหนักครับ เพราะค่าขนส่งจะเกินตัว จึงมีการงดนำเข้าสินค้าหลายอย่างเพราะราคาสูงเกินไป

เมื่อการขนส่งสินค้าทางเรือมีปัญหา ผู้ประกอบการหลายรายต้องดิ้นรนหาทางออก เมื่อเทียบกันแล้วถ้าต้นทุนการขนส่งอากาศไม่ต่างกับการขนส่งทางเรือมากนัก ก็อาจจะแก้ไขด้วยการใช้การขนส่งสินค้าทางอากาศหรือเช่าเครื่องบินเหมาลำแทนเพราะนอกจากจะขนส่งสะดวกรวดเร็วขึ้นแล้ว สินค้ายังถึงมือผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วทันใจ ไม่ต้องให้รอนานถึง 2–3 เดือน ซึ่งนานจนสินค้าบางอย่างกว่าจะไปถึงมือลูกค้าก็อาจจะตกรุ่นไปแล้ว

รัฐบาลของบางประเทศวางนโยบายและการปฏิบัติได้ไม่ครบ ส่งเสริมแต่ทางด้านการผลิต แต่ไม่ส่งเสริมด้านการตลาดและการขนส่ง ผลิตออกมาแล้ว สินค้าขายไม่ได้ กองกันพะเนินเทินทึก ผู้ประกอบการทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่โผล่ขึ้นมาเพียงแผล็บแผล็บแวบเดียวแล้วก็ล้มหายตายจากไปพร้อมกับหนี้สิน ผู้ประกอบการเกือบทั้งประเทศมีแต่หนี้

โลกเราอยู่อยากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่มี “ความสามารถธรรมดา” ไม่สามารถพาประเทศและประชาชนไปสู่ความอยู่ดีมีสุขได้ผู้บริหารประเทศต้องเก่งของจริง.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com