จากเสียงกระตุ้นให้รีบปิดการเจรจา และลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนเสียทีนั้น เดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า การประชุมสุดยอด COP26 ที่กลาสโกว์ 31 ต.ค. ถึง 12 พ.ย. จะเป็นบทพิสูจน์ความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยขอเชิญชวนมิตรประเทศให้เร่งออกมาตรการเพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สหภาพยุโรปพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการเงิน ได้จัดสรรเงินไว้ 22,000 ล้านยูโร หรือกว่า 854,000 ล้านบาท ในปี 2562 เพื่อให้คำสัญญาของประเทศพัฒนาแล้วที่จะให้เงินสนับสนุนรวม 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี (ราว 3.3 ล้านล้านบาท) แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือกับโลกร้อนไม่เป็นเพียงแค่ลมปาก

เมื่อการเจรจาเพื่อสนธิสัญญาปารีสสิ้นสุดลงก็ถึงเวลาที่ต้องลงมือทำตามที่ได้สัญญาไว้แต่รายงานของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าผิดหวัง หากแต่ละประเทศยังคงเพิกเฉยต่อปัญหา อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นถึง2.7องศาภายในปี 2643 นี่คือหายนะที่ร้ายแรงเกินจะรับได้ ต้นทุนที่มนุษย์ทุกคนต้องร่วมจ่ายในวันหน้าจากการเพิกเฉยในวันนี้อาจสูงเกินกว่าที่เราจะรับไหว

ในจุดนี้มองว่า การตีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นตัวเงินจึงจำเป็น และในเมื่อพลังงานจากถ่านหินเป็นผลเสียต่อสุขภาพ การเกษตร แหล่งน้ำ รวมไปถึงอาชีพและระบบเศรษฐกิจ จึงต้องหาวิธีที่เป็นระบบเพื่อยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินโดยเร็วที่สุด

การทำเช่นนั้นต้องอาศัยแรงผลักดันของผู้นำและประชากรโลกทุกคน ทุกอย่างที่เราทำจะมีผลต่อเป้าหมายนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง การบริโภคหรือการเดินทาง เราคือผู้กำหนดอนาคตของสภาพอากาศโลกด้วยตัวเราเอง แม้อียูจะมีบทบาทหลักในการรับมือกับภาวะโลกร้อน แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกับ “ประเทศไทย”และ “ประชาคมอาเซียน”

...

อุทกภัยที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่หรืออุทกภัยและไฟป่าครั้งใหญ่ในยุโรปเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาคือเครื่องเตือนใจ อียูพร้อมสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต และเราเองพร้อมที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยด้วย การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งจำเป็นในทุกพื้นที่ทั่วโลก...ไม่ว่าแผนการของเราจะเรียบง่ายหรือซับซ้อนเพียงใด เวลาที่เราต้องนำแผนไปลงมือปฏิบัติได้มาถึงแล้ว.

ตุ๊ ปากเกร็ด