แม้โลกต้องเผชิญกับปัญหาโรคโควิด-19 ที่ระบาดใหญ่จนหลายภาคส่วนหยุดชะงัก ชะลอตัว แต่วงการอวกาศกลับคึกคักและเคลื่อนไหวอย่างน่าตื่นเต้น ทั้งจากองค์การอวกาศในหลายประเทศ และบรรดาบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่จัดเที่ยวบินส่งเศรษฐีกระเป๋าหนักไปสัมผัสบรรยากาศเหนือระดับที่นอกโลก

ล่าสุด เพิ่งปล่อยออกไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็คือ “ยานอวกาศลูซี่” (Lucy) ยานอวกาศไร้คนขับที่เปรียบเป็นหุ่นยนต์นักสำรวจขององค์การนาซา มุ่งหน้าออนทัวร์ไปยังกลุ่มดาวเคราะห์น้อยกลุ่มใหญ่จำนวนพันๆดวงที่รวมตัวกันรอบดาวพฤหัสบดี ซึ่งจัดออกเป็น 2 กลุ่ม เรียกชื่ออย่างสั้นๆว่าพวก “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” (Trojan)

“ลูซี่” ถือเป็นยานอวกาศลำแรกที่มีเป้าหมายไปเยือนกลุ่มหินอวกาศที่ยังไม่เคยมียานอวกาศลำใดไปสำรวจมาก่อนสิ่งที่ทำให้ “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ด้านอวกาศอย่างยิ่ง อย่างแรกคือหากมองในระดับดาราศาสตร์ พื้นที่ที่ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้โคจรอยู่ไม่ใหญ่มาก คำถามน่าคิดคือ หินอวกาศกลุ่มใหญ่มารวมตัวกันได้อย่างไร? นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยโทรจันอาจให้เบาะแสของการก่อเกิดระบบสุริยะของเรา มีการคาดคะเนว่าโทรจันเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก นับตั้งแต่พวกมันก่อตัวขึ้นเมื่อราว 4,500 ล้านปีก่อน ในช่วงที่ดาวเคราะห์เพิ่งเริ่มถือกำเนิด นั่นหมายความว่า “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” จะฉายภาพวัยเด็กของระบบสุริยะให้รู้กัน

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ นักวิทยาศาสตร์บางรายตั้งทฤษฎีว่า “ดาวเคราะห์น้อยโทรจัน” ไม่ได้ก่อตัวในวงโคจรของดาวพฤหัสบดี แต่มาจากที่อื่น โดยเฉพาะเชื่อว่ามาจากกลุ่มของหินอวกาศที่ครั้งหนึ่งเคยมีอยู่เลยดาวเนปจูนออกไป ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง ดาวเคราะห์น้อยโทรจันก็จะเป็นกุญแจไขปริศนาต่างๆ ได้มากมายเกี่ยวกับวิธีที่วัตถุที่เก่าแก่ที่สุดและดาวเคราะห์ที่กำลังเติบโตในระบบสุริยะว่าก้าวข้ามผ่านกาลเวลาในยุคเริ่มแรกของพวกมันได้อย่างไร

...

ยานอวกาศลูซี่ ตั้งชื่อตามซากดึกดำบรรพ์ของบรรพบุรุษมนุษย์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 3-4 ล้านปีก่อน ถูกค้นพบในเอธิโอเปียเมื่อปี พ.ศ.2517 ซากของ “ลูซี่” ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ ส่วน “ยานอวกาศลูซี่” นั้น ทีมงานที่ดูแลภารกิจนี้ก็หวังว่ายานลำนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน ต่างก็ตรงที่ครั้งนี้คือข้อมูลเชิงลึกของ “ระบบสุริยะ” ของเรา

อย่างไรก็ตาม การไปยังดินแดนของเหล่าโทรจันไม่ใช่เรื่องง่าย “ลูซี่” ต้องใช้เส้นทางโคจรที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยกินระยะทางกว่า 6,400 ล้านกิโลเมตรในช่วงระยะเวลา 12 ปี.

ภัค เศารยะ