- นักวิเคราะห์เตือนทั่วโลกเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาวิกฤติขาดแคลนพลังงาน หลังจากที่ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินพุ่งทะยานทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
- วิกฤตขาดแคลนพลังงานโลกในครั้งนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งสภาพอากาศ ปัญหาการชะงักงันในเรื่องของกระบวนการผลิต และความต้องการที่ฟื้นกลับมามากขึ้นหลังโควิด ทำให้พลังงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ
- จากแรงกดดันทำให้รัฐบาลทั่วโลกต่างพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาที่จะกระทบกับผู้บริโภค โดยเฉพาะการจัดหาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดมาสำรอง โดยเตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมสภาพอากาศในเดือนพฤศจิกายนนี้
วิกฤติขาดแคลนพลังงานโลกในครั้งนี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งสภาพอากาศ ปัญหาการชะงักงันในเรื่องของกระบวนการผลิต และความต้องการบริโภคพลังงานที่ฟื้นกลับมามากขึ้น ทำให้พลังงานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่พอใช้งาน จนกระทั่งมีรายงานไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ กลายเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าก่อนที่หลายประเทศทั่วโลกจะก้าวเข้าสู่ฤดูหนาว ที่ครัวเรือนจำเป็นต้องใช้พลังงานในการให้ความสว่างและความร้อนภายในบ้าน
...
รัฐบาลทั่วโลกต่างพยายามที่จะจำกัดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค แต่ก็คงยากที่จะช่วยลดภาระบิลค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่พุ่งสูงได้ สถานการณ์ในเวลานี้จึงสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลชาติต่างๆ ให้เร่งดำเนินการเพื่อให้มาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยผู้นำโลกเตรียมนำเรื่องนี้เข้าหารือในการประชุมสภาพอากาศในเดือนพฤศจิกายนนี้
ในประเทศจีน วิกฤติพลังงานเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น หลังประชาชนต้องผลัดกันใช้ไฟฟ้า และผลัดกันไฟฟ้าดับ เพื่อทุเลาปัญหาพลังงานไม่เพียงพอ ในขณะที่อินเดียที่ยังคงพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินเป็นหลัก ระบุในสัปดาห์นี้ว่า โรงงานไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 63 แห่งจาก 135 แห่ง เหลือถ่านหินสำหรับไว้ใช้งานเพียงไม่ถึง 2 วันเท่านั้น ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานผลิตไฟฟ้ากำลังเตือนภัยว่าจะเกิดเหตุไฟฟ้าดับ ซึ่งรัฐบาลอินเดียกำลังเร่ง หาทางนำโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานกลับมาเปิดทำการอีกครั้งเพื่อหาทางแก้ปัญหา
พลังงานถ่านหินนับเป็นพลังงานหลักถึงเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในอินเดีย ขณะที่อีก 3 ใน 4 ของเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้มาจากการทำเหมืองในประเทศ แต่ที่ผ่านมาอินเดียเผชิญกับเหตุฤดูมรสุม ทำให้เกิดน้ำท่วมเหมือง และทำให้การขนส่งต้องหยุดชะงัก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาถ่านหินสูงขึ้นมาก จนเกิดวิกฤติพลังงาน
ในเอเชียตะวันออก ราคาของก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นถึง 85 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนกันยายน ไปแตะอยู่ที่ 204 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกา แต่ก็นับว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี
โดยความกังวลว่าจะเจอภาวะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติทำให้เกิดความต้องการในการกักตุนถ่านหินและน้ำมันไว้ใช้สำรองเพิ่มขึ้นและทำให้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสถานการณ์นี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางและนักลงทุนต่างแสดงความกังวล เนื่องจากราคาหลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเศรษฐกิจโลกจากผลพวงของโควิด-19 อยู่แล้ว ซึ่งจะยิ่งเลวร้ายลงอีกในช่วงหน้าหนาวนี้
ในยุโรป ก็มีการใช้มาตรการคุมเข้มสำหรับลูกค้าที่ไม่ชำระหนี้ค่าพลังงาน โดยจะถูกระงับใช้บริการในรอบบิลถัดไป หรือถูกตัดระบบจ่ายพลังงาน โดยราคาของพลังงานเชื้อเพลิงในยุโรปกำลังพุ่งสูงท่ามกลางภาวะขาดแคลนพลังงาน โดยราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 230 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันก็ปรับราคาขึ้นถึงกว่า 130 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และนับว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงมากกว่า 8 เท่า
...
วิกฤติครั้งนี้มีรากของปัญหามาจากความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากหยุดชะงักมานานจากการระบาดของโรค โดยสภาพอากาศหนาวเย็นที่ยาวนานและเริ่มเร็วกว่าปกติทำให้สต๊อกของก๊าซธรรมชาติในยุโรปลดลงไปอย่างรวดเร็ว
นักวิเคราะห์ด้านพลังงานระบุว่าราคาพลังงานที่พุ่งพรวดในยุโรปเวลานี้ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะราคาปรับตัวสูงขึ้นไปไกลมาก ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้าสู่หน้าหนาวได้เพียงไม่นาน และอากาศยังไม่เย็นจัดด้วยซ้ำ และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในยุโรป แต่ลามไปทั่วโลก อย่างในสหรัฐฯ ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่เริ่มเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ความต้องการใช้ถ่านหิน ก็ทำให้หลายบริษัทในยุโรปต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ตามข้อกำหนดของรัฐบาลเพื่อลดปัญหามลพิษและแก้ไขภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติอเมริกา ยังคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันมีแนวโน้มทะลุแนวต้าน 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และคาดว่าหากฤดูหนาวปีนี้ยาวนานตามที่พยากรณ์กันไว้ ราคาน้ำมันดิบเบรนต์อาจจะพุ่งสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยครั้งล่าสุดที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับดังกล่าวคือในปี 2014 และยังไม่เห็นแนวทางที่จะช่วยทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้นในทันที
...
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤติในครั้งนี้อาจเป็นโอกาสของประเทศผู้ส่งออกพลังงานรายใหญ่ในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับตนเอง เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย หนึ่งในประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก ออกมาแสดงความเห็นว่า ยุโรปสามารถเลี่ยงวิกฤติขาดแคลนพลังงานได้ หากรัฐบาลเยอรมนีเร่งพิจารณาการอนุมัติโครงการ นอร์ด สตรีม 2 (Nord Stream 2) ซึ่งเป็นโครงการท่อส่งก๊าซใต้ทะเลระหว่างรัสเซียมายังภูมิภาคยุโรปผ่านทางเยอรมนี โดยโครงการ นอร์ด สตรีม 2 เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนที่แล้ว ท่ามกลางการต่อต้านจากประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งมองว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้รัสเซียเพิ่มอิทธิพลในยุโรป
นักวิเคราะห์ยังเตือนว่า แม้รัฐบาลทั่วโลกจะพยายามหามาตรการเพื่อจำกัดผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่ประชาชนก็ต้องเตรียมใจรับบิลค่าไฟและค่าน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง ผู้คนชะลอการใช้จ่าย จนกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่บอบช้ำหนักจากวิกฤติโควิดระบาดอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลนานาประเทศควรเตรียมมาตรการรับมือทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมน้อยที่สุด.
...
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา : ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์, แชนแนลนิวส์เอเชีย