จากวารสาร “วิทย์ไมตรีไทย-จีน” ของฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถานเอกอัคร ราชทูต ณ กรุงปักกิ่งของจีน ยังมีการกล่าวถึง “ความสำเร็จของจีนในการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” โดยนางซู่ กั๋วเซี่ย อดีตอธิบดีกรมฟื้นฟูชนบทแห่งชาติจีน

โดยจีนนิยามความยากจนว่า เป็นผู้ใดก็ตามในพื้นที่ชนบทที่มีรายได้น้อยกว่า 2.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานที่ธนาคารโลก วัดจากจำนวนรายได้ 1.90 ดอลลาร์/วัน แล้วพิจารณาองค์ประกอบอื่น ทั้งสภาพความเป็นอยู่ การดูแลสุขภาพและการศึกษา

ด้วยเส้นทางการแก้ปัญหาความยากจนในชนบทของจีน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 ดำเนินการ ปฏิรูปที่ดินเพาะปลูก อนุญาตให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินมากกว่า 300 ล้านคนมีที่ดินปลูกพืชผัก เพราะการไม่มีที่ดินทำกินคือสาเหตุของความยากจน จากนั้นก็ดำเนินนโยบายอื่นๆเรื่อยมา ทั้งในพื้นที่ราบสูงเลอสส์ (Loess Plateau) ทางตะวันตกเฉียงเหนือที่มีความยากจนมากที่สุด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

ต่อมาก็ได้จัดตั้งสำนักงานสภาแห่งรัฐแกนนำกลุ่มเพื่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาความยากจน กระทั่งรัฐบาลประกาศในปี ค.ศ.1994 “แผนแก้ไขปัญหาความยากจนแห่งชาติ 87” คือ การแก้ปัญหาเรื่องอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้กับคนยากจน 80 ล้านคน ใช้เวลา 7 ปี

พร้อมตั้งเป้าภายในปี 2020 หรือเมื่อปีกลาย คนยากจนทั้งหมดต้องหลุดพ้น มีรายได้ตามมาตรฐานระดับชาติ ไม่มีปัญหาเรื่องอาหาร เครื่องนุ่งห่ม การศึกษาภาคบังคับ การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน และความมั่นคงของที่อยู่อาศัย หรือเรียกง่ายๆว่า ปัจจัย 4 เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ต้องครบ (ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา จีนจัดพิธีประกาศชัยชนะเหนือความยากจน 100 ล้านคนอย่างยิ่งใหญ่สมราคา)

...

ยุทธวิธีก็ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรม เสริมสร้างสนับสนุนความสามารถที่มีการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านหยวน คัดเลือกบุคลากรที่มีความสามารถด้านนี้

ทั้งการเป็นผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบในหมู่บ้านยากจนที่ขึ้นทะเบียนเกือบ 100,000 แห่งทั่วประเทศสร้างแพลตฟอร์ม บูรณาการนวัตกรรมในพื้นที่ยากจน โดยมีผู้ปฏิบัติการที่แข็งแกร่งและเป็นมืออาชีพเพื่อสร้างผลลัพธ์ให้ครัวเรือนและเพิ่มรายได้โดยตรง...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ