• นิตยสาร อีโคโนมิสต์ จัดอันดับเมืองที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยกรุงโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก ประเทศที่ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ทั้งหมดก่อนใครเพื่อน และมีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง รวมถึงตัวเลขคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกคว้าอันดับหนึ่งไปครอง
  • ตัวชี้วัดว่าเมืองแห่งไหนมีความปลอดภัยนั้นมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ความมั่นคงด้านสุขภาพ และโครงสร้างพื้นที่ฐานที่สร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
  • นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวและความร่วมมือของคนในชุมชนที่พึ่งพากันและกัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เมืองมีความปลอดภัยน่าอยู่มากยิ่งขึ้น

วิกฤติโควิด-19 ได้สร้างความท้าทายต่อทั้งเศรษฐกิจ และการใช้ชีวิตของประชาชน ในขณะที่ประชากรทั่วโลกต่างไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้อย่างเคย  ด้าน อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต หรือ อีไอยู หน่วยงานที่วิเคราะห์เศรษฐกิจ ของนิตยสาร อีโคโนมิสต์ ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศที่ถูกนำมาจัดอันดับนั้นจะวัดจากการภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ และความมั่นคงในด้านต่างๆ โดยการจัดอันดับ 2021 Safe Cities Index นั้นมีการนำเมือง 60 แห่งทั่วโลก มาคำนวณตามตัวชี้วัด 76 อย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงปลอดภัยส่วนบุคคล และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ บวกกับการเตรียมพร้อมรับมือกับโรคโควิด-19 รวมถึงอัตราการเสียชีวิตของคนในประเทศ โดย 5 อันดับแรกที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความปลอดภัยหลังจากโรคโควิด-19 ระบาดได้แก่ 

...

1. โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก 

เดนมาร์กนับว่าเป็นประเทศที่รับมือกับโรคระบาดได้ดี และเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ได้ประกาศให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอล ยกเลิกมาตรการคุมโควิดทั้งหมด ในวันที่ 10 ก.ย. 64 ที่ผ่านมา รวมถึงมีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชากรในระดับสูง ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก ระบุชัดว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นอยู่ภายใต้การควบคุม แต่ยังคงย้ำเตือนว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นยังไม่จบลง และหากพบผลกระทบจากการแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้งก็จะกลับมาใช้มาตรการควบคุมในทันที 

ขณะเดียวกันกรุงโคเปนเฮเกนยังมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศ การจัดการของเสีย และพื้นที่สีเขียวกลางเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี โดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Copenhagen Capacity ระบุว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาด ประชาชนได้ออกมาเดินสูดอากาศคลายความเครียดและดื่มด่ำไปกับวิวเมือง อีกทั้งยังมีคำแนะนำในการใช้ชีวิตช่วงการแพร่ระบาดให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีสัญลักษณ์ในการเว้นระยะห่างที่ชัดเจน ขณะที่ผู้คนในชุมชนทำงานร่วมกันและเชื่อใจกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เดินหน้าสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังพบว่าการควบคุมการคอร์รัปชันและความปลอดภัยของเมืองนั้นมีความสัมพันธ์กัน โดยเดนมาร์กได้ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันน้อยที่สุดของโลก ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นทางการและเพื่อนร่วมชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังมีการตรวจโรคฟรีใช้แก่ประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งข้อมูลต่างๆ เป็นปัจจัยให้สามารถตรวจพบการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว 

2. โตรอนโต, แคนาดา

...

นครโตรอนโต เมืองที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา ได้จัดให้อยู่ในอันดับที่สองของเมืองที่ปลอดภัย โดยมีคะแนนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งวัฒนธรรมที่หลอมรวมเป็นหนึ่งของโตรอนโตเอื้อต่อการสื่อสารข้อมูลไปยังชุมชนต่างๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน และมีการร่วมมือกันขององค์กรในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียม

ขณะเดียวกันความหลากหลายทางวัฒนธรรมในโตรอนโต ยังทำให้เมืองแห่งนี้เปิดกว้างต้อนรับผู้คนจากหลายชาติต่างภาษา รวมถึงความหลากหลายทางเพศ ซึ่งทำให้ผู้คนจากวัฒนธรรมที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย 

3. สิงคโปร์

 สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 3 โดยความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีดิจิทัล บวกกับความมั่นคงด้านสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้สิงคโปร์เริ่มป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และมีการเริ่มต้นการสังเกตการณ์แบบดิจิทัลรวมถึงการสืบสวนโรคที่รวดเร็ว นอกจากนี้สิงคโปร์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีตัวเลขการฉีดวัคซีนมากที่สุดในโลก รวมถึงมีการสืบสวนโรคอย่างเข้มข้น 

...

ขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังมีแอปพลิเคชัน ‘เทรซ ทูเกตเตอร์’ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ติดตามตัวประชาชนต่อสู้กับโรคโควิด-19 มีผู้สมัครใช้กว่า 5.7 ล้านคนซึ่งแอปฯ เทรซ ทูเก็ตเตอร์ นี้จะต้องติดตั้งในโทรศัพท์มือถือ ผู้ใช้ต้องเปิดสัญญาณบลูทูธเอาไว้ขณะเปิดใช้งาน โดยตัวแอปฯจะเก็บข้อมูลสัญญาณบลูทูธ ของผู้ใช้แอปฯ คนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อระบุความใกล้ชิดของผู้ใช้แต่ละคน เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งหากผู้ใช้รายใดถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 ทางการก็จะสามารถติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดได้โดยการนำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบ

ล่าสุดสิงคโปร์ได้ยกระดับคุมเข้มการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยประกาศไม่อนุญาตให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า และห้ามรับประทานอาหารภายในศูนย์อาหาร รวมถึงร้านกาแฟ แต่ยังสามารถซื้ออาหารกลับบ้านได้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 64 เป็นต้นไป

4. ซิดนีย์, ออสเตรเลีย 

อันดับที่ 4 นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ออสเตรเลียเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ได้ประกาศปิดพรมแดนและใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และสามารถควบคุมให้ผู้ป่วยในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ทำให้นครซิดนีย์ ต้องล็อกดาวน์ในช่วงเดือนมิ.ย 64 แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับยอดผู้ติดของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

...

ซึ่งนอกจากการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ชาวออสซี่ที่อาศัยในนครซิดนีย์ ยังรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิต โดยเสียงจากสตรีที่อาศัยในซิดนีย์ระบุว่า เธอรู้สึกปลอดภัยในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพียงลำพังโดยที่ไม่กังวลว่าการเดินทางคนเดียวจะทำให้เธอตกอยู่ในอันตรายแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ซิดนีย์ยังเดินหน้าเป็น 'สมาร์ท ซิตี้' ทำให้เป็นเมืองที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่นการติดเซนเซอร์บริเวณถังขยะ ไฟถนน เก้าอี้สาธารณะ เพื่อเก็บข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้งานและความเคลื่อนไหวบริเวณดังกล่าว รวมถึงการติดตั้งไฟอัจฉริยะและกล้องวงจรปิด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยช่วงกลางคืน

ส่วนในวันที่ 11 ต.ค ชาวออสเตรเลียใน นครซิดนีย์ ออกมาฉลองการเปิดเมืองวันแรก หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา โดยผับบาร์ และร้านอาหารต่างๆ ในเมืองได้กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ซึ่งผู้เข้าใช้บริหารต้องเป็นผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดส โดยประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะสามารถรวมตัวกันในบ้านได้ 10 คน และอนุญาตให้มีการจัดงานแต่งงานที่มีแขกเข้าร่วมไม่เกิน 100 คน การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ออสเตรเลียมีอัตราผู้ฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส ทะลุ 80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากร 

5. โตเกียว, ญี่ปุ่น

อันดับที่ 5 กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยกรุงโตเกียวนั้นได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับต้นๆ ของ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การรับมือกับการแพร่ระบาด อายุขัยของประชาชน และสุขภาพจิต โดยถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีความกังวลว่าการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกในเดือน ก.ค 64 ที่ผ่านมาอาจทำให้เกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดขนาดใหญ่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งโอลิมปิกได้ถูกจัดภายใต้มาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และไม่อนุญาตให้คนดูเข้าชมภายในสนาม โดยจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่มีอัตราการฉีดวัคซีนเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ และได้มีการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย 

กรุงโตเกียวยังได้รับการจัดอันดับความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ความปลอดภัยในการเดินทาง และระบบขนส่งสาธารณะที่ดี รวมถึงเป็นเมืองที่ประชาชนสามารถเดินทางในเมืองได้ง่าย มีการเชื่อมต่อรถไฟสายต่างๆ ซึ่งโตเกียวนั้นถูกออกแบบให้เป็นเมืองที่เชิญชวนให้ประชาชนเดินในเมืองและมีส่วนร่วมกับชุมชน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง และประชาชนต่างเป็นหูเป็นตาให้กันและกัน ทำให้กรุงโตเกียวติดหนึ่งในห้าเมืองที่ปลอดภัยที่สุดของโลก

ผู้เขียน: นัฐชา กิจโมกข์

ที่มา:EconomistBBC, Economist