วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่อง ประเทศจีน กันอีกสักวันนะครับ ทำไมสหรัฐฯกับจีนซึ่งทำสงครามการค้าและสงครามเย็นกันมากว่า 4 ปี ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ แต่จนถึงวันนี้การค้าและการลงทุนของสหรัฐฯในจีนก็ไม่ได้ลดลงมากนัก บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สหรัฐฯยังคงชื่นชอบที่จะไปลงทุนในประเทศจีน เช่น แอปเปิล รถยนต์ไฟฟ้าเทสลา คำตอบที่น่าสนใจก็คือ จีนมีแรงงานทักษะมากมายให้เลือกเต็มไปหมด ไม่ว่าจะไปผลิตสินค้าไฮเทคอะไรก็ตาม
วันก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ แอปเปิล ซึ่งใช้ประเทศจีนเป็นแหล่งผลิต ไอโฟน ไอแพด ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้พูดถึงเหตุผลที่ไปลงทุนในจีนไว้อย่างน่าสนใจ
ทิม คุก บอกว่า มีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับประเทศจีน จึงขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเทศจีน มีคนชอบพูดกันว่า เหตุผลที่หลายบริษัทไปลงทุนในจีน เพราะจีนมีค่าแรงถูก ผมไม่แน่ใจว่าเขาไปพื้นที่ไหนกันแน่ ในความเป็นจริง จีนไม่ได้เป็นประเทศที่มีค่าแรงถูกมาตั้งนานแล้ว ในมุมมองของผู้ผลิต ค่าแรงถูกไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ที่พวกเขาไปลงทุนในจีน เพราะ จีนมีแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากต่างหาก โดยเฉพาะ คุณภาพของทักษะของแรงงานจีน
ทิม คุก กล่าวว่า อย่างสินค้าที่เราผลิต (ไอโฟน) ต้องการเครื่องมือในการผลิตขั้นสูงความแม่นยำของเครื่องมือ และ ทักษะในการประกอบ ซึ่งถือเป็น “ศิลปะ”
แรงงานจีน มีทักษะสูงในการใช้เครื่องมือขั้นสูง และ เฉพาะทางมาก ถ้ามีการประชุมวิศวกรเกี่ยวกับเครื่องมือชนิดหนึ่งในสหรัฐฯ ผู้เข้าร่วมประชุมอาจไม่เต็มห้อง แต่ที่ประเทศจีนอาจจะมีผู้เข้าร่วมประชุมเต็มสนามฟุตบอลเลยทีเดียว การที่จีนมีแรงงานวิชาชีพทักษะสูงมากขนาดนี้ ทิม คุก ยกเครดิตให้กับ “ภาคการศึกษาของจีน” จีนส่งเสริมเรื่องนี้มาก ขณะที่หลายประเทศยังไม่ได้ให้ความสำคัญของทักษะวิชาชีพ ตอนนี้มีหลายประเทศเริ่มออกมาพูดว่า นี่คือ “กุญแจ” ที่เราต้องมี แต่จีนมาถูกทางตั้งแต่ตอนเริ่มต้น
...
สิ่งที่ ทิม คุก ซีอีโอ แอปเปิล พูดมานั้น ผมเคยเขียนเล่าในคอลัมน์นี้ไปเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผมไปเซี่ยงไฮ้หลายครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่สมัยปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ได้เห็นเขตผู่ตงที่เป็นทุ่งนา ได้ฟังการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัยในยุค เติ้ง เสี่ยวผิง บิดาแห่งจีนสมัยใหม่ เมื่อเติ้งขึ้นครองอำนาจเติ้งได้ประกาศ “นโยบาย 4 ทันสมัย” คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำประเทศจีนไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว
สิ่งแรกที่ มังกรเติ้ง ทำก็คือพัฒนา “การศึกษา” รัฐบาลจีนได้ส่งนักศึกษาหัวกะทิปีละหลายหมื่นคนไปเรียนวิชาทันสมัยในโลกตะวันตก แม้จะมีหลายคนที่ไม่อยากกลับ แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ก็กลับมาพร้อมปริญญาโท ปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯและยุโรป ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา นักศึกษาจีนนับล้านคนได้ถูกส่งไปเรียนรู้จากต่างประเทศ และกลับมาเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัยทุกด้าน ทั้งเกษตร อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเงิน การค้า ไปจนถึงการแพทย์และกฎหมายระหว่างประเทศ
จีนมีการพัฒนาการศึกษาระดับสูงอย่างต่อเนื่องไม่เคยหยุดนิ่งจากการส่งนักศึกษาไปเรียนต่างประเทศ ก็เปลี่ยนเป็นให้มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศเข้ามาตั้งวิทยาเขตในจีน เช่น มหาวิทยาลัยนิวยอร์กเซี่ยงไฮ้ New York University Shanghai เป็นการร่วมทุนกันระหว่าง มหาวิทยาลัยนิวยอร์กสหรัฐฯ กับ มหาวิทยาลัยจีนตะวันออก โดยให้อาจารย์จาก NYU เข้ามาสอนที่เซี่ยงไฮ้ มีบ้านพักมีวีซ่าอาจารย์ระยะยาว เพื่อหาครูเก่งๆมาสอนคนจีน ต่างจากอีอีซีไทยที่คิดแค่ ให้วีซ่าแรงงานฝีมือต่างชาติ เข้ามาทำงานในไทย สุดท้ายประเทศก็ไม่ได้อะไร
จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยยั่งยืน ต้องลงทุนที่ “การศึกษา” ครับ ไม่ใช่ เงินทุนต่างชาติอย่างเดียว หรือ ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติมาแล้วก็ไป แต่คนไทยที่มีการศึกษาสูงและมีทักษะวิชาชีพสูง จะอยู่กับประเทศไทยตลอดไปครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”