องค์กรสื่อเผยผลการตรวจสอบเอกสารทางการเงินที่รั่วไหลออกมานับล้านฉบับ พบทรัพย์สินและข้อตกลงลับๆ มากมายของผู้นำโลก, นักการเมือง และมหาเศรษฐี ที่ถูกปกปิดเอาไว้ หรือสังคมไม่เคยรู้มาก่อน

ตามการเปิดเผยของสำนักข่าว บีบีซี นักข่าวกว่า 650 คนจากสมาคมนักข่าวสืบสวนระหว่างประเทศ (ICIJ) และองค์กรสื่อทั่วโลก ร่วมกันตรวจสอบเอกสารทางการเงินและไฟล์จำนวนเกือบ 12 ล้านฉบับ ที่รั่วไหลมาจากบริษัทบริการการเงินนอกประเทศ (offshore company) 14 แห่ง ซึ่งพวกเขาเรียกเอกสารเหล่านี้โดยรวมว่า ‘แพนดอรา เปเปอร์ส’ (Pandora Papers)

เอกสารดังกล่าวมีชื่อของผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบันราว 35 คน กับเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า 300 คนปรากฏอยู่ รวมถึงสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ผู้ถูกระบุว่าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 70 ล้านดอลลาร์โดยไม่เปิดเผย

เอกสารยังแสดงให้เห็นว่า นายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษกับภริยา ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเลี่ยงจ่ายอากรแสตมป์มูลค่า 312,000 ปอนด์ ตอนที่ทั้งคู่ซื้อสำนักงานในกรุงลอนดอน ด้วยการซื้อบริษัทในต่างประเทศที่ถือครองอาคารดังกล่าวอยู่

โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
โทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

...

นอกจากนั้น เอกสารยังเชื่อมโยงประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กับทรัพย์สินลับในเมืองโมนาโก และแสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีเช็ก อันเดรจ บาบิส ซึ่งกำลังจะลงศึกเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้ ไม่ยอมเปิดเผยว่า เขาใช้บริษัทลงทุนต่างชาติในการซื้อบ้านพักตากอากาศ 2 แห่งทางใต้ของฝรั่งเศส มูลค่า 12 ล้านปอนด์

ทั้งนี้ แพนดอรา เปเปอร์ส เป็นเอกสารรั่วไหลชุดล่าสุดที่เกิดขึ้นในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ตามหลัง ฟินเซน (FinCen), พาราไดส์ เปเปอร์ส (Paradise Papers), ปานามา เปเปอร์ส (Panama Papers) และ ลักซ์ลีกส์ (LuxLeaks) โดยรั่วไหลมาจากบริษัทการเงินนอกประเทศที่ตั้งอยู่ในดินแดนต่างๆ เช่น เกาะบริติช เวอร์จิน, ปานามา, เบลีซ, ไซปรัส, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์

บุคคลที่มีชื่อปรากฏในเอกสารบางคนกำลังเผชิญข้อกล่าวหาเรื่องการคอร์รัปชัน, ฟอกเงิน และเลี่ยงภาษี แต่ธุรกรรมจำนวนมากที่ถูกระบุในเอกสารเหล่านี้ไม่ได้มีการทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของ แพนดอรา เปเปอร์ส คือ การแสดงให้เห็นว่าบุคคลสำคัญและคนร่ำรวยสามารถจัดตั้งบริษัทอย่างถูกกฎหมาย เพื่อนำมาใช้ซื้อทรัพย์สินในสหราชอาณาจักรอย่างลับๆ

เรื่องดังกล่าวตอกย้ำถึงความล้มเหลวของรัฐบาลยูเค ในการออกมาตรการลงทะเบียนผู้เป็นเจ้าของบริษัทนอกประเทศ ทั้งที่สัญญามาตลอด ท่ามกลางความกังวลว่า ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์บางคนอาจใช้วิธีการนี้ในการซ่อนเร้นการฟอกเงิน เช่นกรณีของ ประธานาธิบดี อิลฮาม อาลิเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน และครอบครัว ซึ่งถูกกล่าวหาว่าปล้นประเทศตัวเอง

ประธานาธิบดี อิลฮาม อาลิเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน
ประธานาธิบดี อิลฮาม อาลิเยฟ แห่งอาเซอร์ไบจาน

การสืบสวนของ ICIJ พบว่า ตระกูลอาลิเยฟและผู้ช่วยใกล้ชิด แอบเข้าไปมีส่วนร่วมในข้อตกลงซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหราชอาณาจักร มูลค่ามากกว่า 400 ล้านปอนด์ และทำกำไรกว่า 31 ล้านปอนด์ในการขายอสังหาริมทรัพย์ของพวกเขาในกรุงลอนดอนให้แก่ ‘Crown Estate’ ซึ่งเป็นที่ดินของราชวงศ์อังกฤษในยูเค ดูแลโดยกระทรวงการคลัง

นายเฟอร์กุส ชีเอล จาก ICIJ กล่าวว่า “ไม่เคยมีอะไรที่ใหญ่ระดับนี้มาก่อน และมันแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสิ่งที่บริษัทในต่างประเทศสามารถทำได้ เพื่อช่วยให้คนซ่อนเงินที่น่าสงสัย หรือเลี่ยงภาษี” นายชีเอลเสริมด้วยว่า พวกเขาใช้บริษัทในต่างประเทศเหล่านี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ในประเทศอื่น และเพื่อเพิ่มความมั่งคั่งแก่ครอบครัวของตัวเอง โดยเอาเปรียบพลเมืองของตัวเอง

แพนดอรา เปเปอร์ส ยังแฉบุคคลสำคัญอีกหลายคน รวมถึงนายอูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา กับสมาชิกครอบครัวของเขาอีก 6 คน ว่า แอบครอบครองเครือข่ายบริษัทในต่างประเทศ 11 แห่ง และหนึ่งในนั้นมีมูลค่าถึง 30 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สมาชิกวงในของนายกรัฐมนตรี อิมราน ข่าน แห่งปากีสถาน รวมทั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรีและครอบครัว แอบครอบครองบริษัทหลายแห่งและกองทรัสต์ (trust) อีกหลายล้านดอลลาร์

บริษัทกฎหมายที่ก่อตั้งโดย ประธานาธิบดี นิกอส อนาสตาเซียเดส แห่งไซปรัส ดูเหมือนจะลงทะเบียนชื่อเจ้าของปลอมเพื่อปกปิดตัวจริงของเจ้าของบริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งก็คือนักการเมืองชาวรัสเซียผู้ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน ส่วนประธานาธิบดี โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ทำการโอนหุ้นที่เขาถือครองในบริษัทลับ ก่อนที่เขาจะชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ไม่นาน.