ความขัดแย้งไม่ว่ายาวนานเพียงใด ย่อมคลี่คลายลงได้ หากขั้วขัดแย้งมีความ “พยายาม” ที่จะใช้การเจรจาเป็นทางออก

อย่าง “โลกมุสลิม-ยิว” ที่เป็นอริกันมานาน ก็สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ โดยเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นการครบรอบ 1 ปี “ข้อตกลงอับราฮัม” ความตกลงสันติภาพและปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างอิสราเอล-สหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์-บาห์เรน และในวันที่ 10 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ก็จะครบรอบ 1 ปีเช่นกัน ของการสานสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง “อิสราเอล-โมร็อกโก” ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการต่อยอดข้อตกลงดังกล่าว โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีโมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งโมร็อกโก ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีลงนามข้อตกลง

กรณีนี้ อับเดลอิลาห์ เอล ฮุสนี เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย และ ออร์นา ซากิฟ อุปทูตรักษาการอิสราเอลประจำประเทศไทย มองว่า เรามิได้เพียงฉลอง ข้อตกลงอับราฮัมเท่านั้น แต่ยังยินดีกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะอยู่ภายใต้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

ข้อตกลงอับราฮัม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประชาชนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งยังนำมาซึ่งความร่วมมือในระดับทวิภาคี พหุภาคี และภูมิภาค ขณะที่โมร็อกโกและอิสราเอลได้บรรลุข้อตกลงกว่า 20 ฉบับ เช่น พลังงาน การท่องเที่ยว ความมั่นคง ฯลฯ มีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตในกรุงราบัดและนครเทลอาวีฟ มีการเจรจาระหว่างกลุ่มต่างๆ รวมถึงการเปิดช่องทางการค้าและเศรษฐกิจ และประวัติศาสตร์

เมื่อรัฐบาลคุยกันได้ ความสัมพันธ์ก็จะกระจายไปสู่ชุมชน สู่ระดับปัจเจกบุคคลและสังคม เหมือนดังที่ รมว.ต่างประเทศอิสราเอลมีการกล่าวไว้ว่า “ข้อตกลงลงนามโดยผู้นำประเทศ แต่สันติภาพเกิดขึ้นได้โดยประชาชน” ดั่งหลักฐานจากการสานสัมพันธ์ครั้งนี้ ที่ชาวอิสราเอลเชื้อสายโมร็อกโกเป็นหนึ่งในชุมชนหลักของสังคมอิสราเอล ตั้งตาคอยมาอย่างยาวนานที่จะได้บินตรงจากอิสราเอลไปเยี่ยมเยือนแผ่นดินของบรรพบุรุษ และข้อตกลงอับราฮัมก็ทำให้ฝันเป็นจริง มีสายการบินระหว่างอิสราเอลและโมร็อกโกถึง 20 เที่ยวต่อสัปดาห์

...

เป็นความหวังอันหนักแน่นว่า ข้อตกลงอับราฮัมจะสามารถเปลี่ยนความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ไปสู่การอยู่ร่วมกันโดยสันติอย่างยั่งยืน ซึ่ง รมว.ต่างประเทศโมร็อกโก ยังเน้นย้ำว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่ต้องระบุแบบแผนใหม่ของภูมิภาค โดยมีอิสราเอลเป็นผู้ถือประโยชน์ร่วม มิใช่ “คนนอก” ที่มาอยู่ในภูมิภาค

และทั้งหมดนี้ ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า การมีปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นในหมู่ชาวมุสลิมและชาวยิว บ่งบอกถึงการประนีประนอมอย่างยิ่งของศาสนา ซึ่งนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว ยังสะท้อนถึงพหุสังคมอันสุขสมบูรณ์ของประเทศนั้นๆอีกด้วย.

ตุ๊ ปากเกร็ด