รัฐมนตรีสภาพอากาศของอิตาลี ออกมาน้อมรับคำตำหนิของ เกรียตา ทุนแบร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่จวกเหล่านักการเมืองว่าดีแต่พูดมานานกว่า 30 ปี โดยย้ำว่า พวกเขาต้องทำให้ดีขึ้น

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 29 ก.ย. 2564 นายโรแบร์โต ชิงโกลานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสภาพอากาศของประเทศอิตาลี ออกมายอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของ เกรียตา ทุนแบร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 18 ปี ซึ่งในสัปดาห์นี้ออกมาตำหนิการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพอากาศของบรรดานักการเมืองว่า เป็น 30 ปีที่มีแต่การพูดไปเรื่อย (30 years of blah, blah, blah)

นายชิงโกลานี เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีสภาพอากาศที่มารวมตัวกันในเมืองมิลาน เพื่อร่วมการประชุมสุดท้ายของสหประชาชาติ ก่อนถึงการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ โดยพวกเขากำลังถูกกดดันอย่างหนักในวางแผนที่ชัดเจนให้แก่ผู้นำรัฐบาล ที่จะมาประชุมร่วมกันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ขณะที่เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เกรียตา ทุนแบร์ก ไปร่วมการประชุม ‘Youth4Climate’ ที่เมืองมิลาน และใช้โอกาสนี้ในการกล่าวล้อเลียนผู้นำโลก โดยหลายครั้งที่เธอใช้คำพูดของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เช่น “ตุ๊กตากระต่ายราคาแพง” หรือ “สร้างกลับมาให้ดีกว่าเดิม” เพื่อเน้นย้ำคำที่เธอเรียกว่าเป็นคำสัญญาลมๆ แล้งๆ ของนักการเมือง

โรแบร์โต ชิงโกลานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสภาพอากาศของประเทศอิตาลี
โรแบร์โต ชิงโกลานี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสภาพอากาศของประเทศอิตาลี

...

ในวันพุธที่ 29 ก.ย. นายชิงโกลานี บอกกับ บีบีซี เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “แม้คำพูดของเธอจะดูยั่วยุไปหน่อย แต่ข้อความของเธอก็ถูกต้อง เราทำไม่มากพอ” “น.ส.ทุนแบร์กได้หยิบยกปัญหาที่ร้ายแรงขึ้นมา คือเราไม่มีความน่าเชื่อถือในอดีตที่ผ่านมา” เขายังพูดถึงนักเคลื่อนไหวอีกคน วาเนสซา นากาเต จากยูกันดา ซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์ชาติร่ำรวยว่า ล้มเหลวในการมอบทุนแก่ชาติยากจนเพื่อรับมือปัญหาสภาอากาศตามที่สัญญาเอาไว้

“หากคุณรวม 2 ข้อความนี้เข้าด้วยกัน ความไม่เท่าเทียมในสังคม, ความไม่เท่าเทียมในโลก, ความเสี่ยงจากสภาพอากาศ และการขาดความใส่ใจในอดีต ข้อความนี้สมบูรณ์แล้ว” นายชิงโกลานีกล่าว “นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะทำตอนนี้ เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น”

เขายังเรียกร้องให้ที่ประชุม COP26 จริงจังในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศกลุ่มเสี่ยง เพื่อเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการใช้ถ่านหิน และพยายามอย่างหนักเพื่อคงอุณหภูมิพื้นผิวโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายที่ 1.5 องศาเซลเซียส