จีนนำเรือบรรทุกเครื่องบินรบลำแรกของประเทศออกทดสอบเป็นครั้งท่ี 2 ท่ามกลางความตึงเครียดกรณีพิพาทน่านน้ำภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะท่าทีในการขยายแสนนายุภาพทางทะเลของจีน ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ...

กระทรวงกลาโหมของจีนแถลงเมื่อ 29 พ.ย.ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินรบลำแรกของจีน ซึ่งปรับปรุงมาจากเรือ “วาร์ยัก” ของยูเครน อดีตชาติรัฐบริวารของสหภาพโซเวียต ถูกนำออกทดสอบเดินทะเลเป็นครั้งที่ 2 หลังการทดสอบครั้งแรกนาน 5 วัน เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จด้วยดี หลังจากนั้นเรือดังกล่าวถูกนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ก่อนนำออกมาทดสอบเป็นครั้งท่ี 2 จากเมืองท่าต้าเหลียน ทางภาคเหนือ เมื่อ 29 พ.ย.

กระทรวงกลาโหมจีน แถลงสั้นๆ ว่า การทดสอบเรือครั้งท่ี 2 มีขึ้นเพื่อการทดลองทางเทคนิคเชิงวิทยาศาสตร์และการวิจัยเท่านั้น โดยเมื่อต้นปีรัฐบาลจีนยืนยันว่า เรือบรรทุกเครื่องบินรบดังกล่าวไม่เป็นภัยคุกคามต่อชาติเพื่อนบ้าน แต่มีเป้าหมายหลักเพื่อการฝึกซ้อมและวิจัย อย่างไรก็ตาม ชาติมหาอำนาจในภูมิภาค รวมทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต่างแสดงความวิตกกังวล และเรียกร้องให้จีนชี้แจงว่าทำไมจึงจำเป็นต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินรบ

การประกาศทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินรบยาว 300 เมตร ระวางขับน้ำ 55,000 ตันของจีนลำนี้ มีขึ้นขณะท่ีความตึงเครียดจากกรณีพิพาทในน่านน้ำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทวีขึ้น เพราะท่าทีก้าวร้าวของจีนในการขยายแสนนายุภาพทางทะเล ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และต้นเดือนนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ สร้างความขุ่นเคืองให้จีน เมื่อเขายกระดับบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยการส่งทหารนาวิกโยธิน 2,500 นาย ไปประจำทางภาคเหนือออสเตรเลีย อีกทั้งผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีริมฟากฝั่งแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งจีนเห็นว่าเป็นการรุกล้ำเขตอิทธิพลของตน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามแทรกแซงกรณีพิพาทแย่งชิงหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนและอีกหลายชาติ รวมทั้งไต้หวัน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ แย่งกันครอบครอง โดยชาติเพื่อนบ้านเหล่านี้กล่าวหาว่า จีนมีท่าทีก้าวร้าวรุกรานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทะเลจีนใต้เป็นเขตยุทธศาสตร์สำคัญ เป็นช่องทางค้าขายทางทะเลถึง 1 ใน 3 ของโลก เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซถึงครึ่งหนึ่งของโลก และเชื่อว่าใต้ท้องทะเลมีก๊าซและน้ำมันสำรองอยู่มหาศาล

ทั้งนี้ กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ซ้ือเรือ “วาร์ยัก” จากยูเครน ในปี 2541 ในสภาพไม่มีเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า และใบจักร นำมาปรับปรุงพัฒนาหลายปี แต่อาจใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถนำฝูงเครื่องบินรบขึ้นไปประจำการและ ปฏิบัติการบนเรือได้จริง เป็นไปได้ว่าจีนจะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินรบเพิ่มโดยใช้เรือวาร์ยัก เป็นต้นแบบ และเนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตรวดเร็ว งบประมาณด้านการทหารจึงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อต้นปีนี้ จีนประกาศเพิ่มงบการทหารขึ้นจากปีท่ีแล้วถึง 12.7% เป็น 601,100 ล้านหยวน (ราว 91,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ).

...