การขนส่งอิฐเพียงก้อนเดียวไปยังดาวอังคารอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 66 ล้านบาท ดังนั้น ราคาสิ่งที่จะก่อสร้างฐานบนดาวอังคารในอนาคตก็นับว่าแพงมาก จึงอาจต้องใช้ทรัพยากร ที่หาได้บนดาวในการก่อสร้างและที่พักพิง นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นคว้าและพัฒนาวิธีการแก้ปัญหานี้

ล่าสุด ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ในอังกฤษ รายงานว่า หาหนทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยการสร้างวัสดุคล้ายคอนกรีตที่ทำจากฝุ่นนอกโลก รวมเข้ากับเลือด สารประกอบจากปัสสาวะ เหงื่อ และน้ำตาของนักบินอวกาศ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับงานก่อสร้างในสภาพแวดล้อมนอกโลก ทีมเผยว่าได้ทดสอบว่าโปรตีนทั่วไปจากพลาสมาในเลือด หรือโปรตีนอัลบูมินของมนุษย์ สามารถทำหน้าที่เป็นสารยึดเกาะสำหรับดวงจันทร์เทียม หรือฝุ่นบนดาวอังคารก็สามารถผลิตวัสดุที่มีลักษณะคล้ายคอนกรีต วัสดุใหม่นี้เรียกว่า AstroCrete มีกำลังรับแรงอัดสูงถึง 25 เมกะปาสคาล ซึ่งใกล้เคียงกับค่า 20-32 เมกะปาสคาล ที่พบในคอนกรีตธรรมดา

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์พบว่าการผสมยูเรียที่ถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เหงื่อ และน้ำตา ก็สามารถเพิ่มกำลังรับแรงอัดได้มากกว่า 300% ทั้งนี้ วัสดุที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดจะมีกำลังรับแรงอัดเกือบ 40 เมกะปาสคาล จะแข็งแกร่งกว่าคอนกรีตทั่วไปอย่างมาก เทคนิคการสร้างวัสดุแบบใหม่นี้จึงให้ข้อได้เปรียบเหนือเทคนิคการก่อสร้างอื่นๆมากมายที่เสนอใช้กับการทำงานบนดวงจันทร์และดาวอังคาร.

Credit : University of Manchester