• สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ทำสนธิสัญญาความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ที่เรียกว่า AUKUS ตกลงแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี พร้อมช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

  • ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สนธิสัญญา AUKUS มีขึ้นเพื่อคานอำนาจของจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้านรัฐบาลปักกิ่งออกมาประณามทั้ง 3 ประเทศอย่างหนัก

  • สนธิสัญญาฉบับนี้ยังสร้างความไม่พอใจให้แก่พันธมิตรของสหรัฐฯ ในยุโรป ฝรั่งเศสระบุว่าเหมือนถูกแทงข้างหลัง ส่วนสหภาพยุโรปรู้สึกเหมือนถูกกีดกัน และว่าหลังจากนี้คงต้องพึ่งตนเอง

สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย บรรลุข้อตกลงทำสนธิสัญญาทางทหารครั้งประวัติศาสตร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สนธิสัญญานี้มีชื่อว่า “AUKUS”

เมื่อค่ำวันพุธที่ 15 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ, นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลีย จัดงานแถลงข่าวร่วมกันผ่านการประชุมทางใกล้ เปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลง ซึ่งรวมถึงการแบ่งปันเทคโนโลยีทางทหาร โดยเฉพาะการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์

การแชร์เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นประเทศที่ 7 ของโลกที่มีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์เป็นของตัวเอง ต่อจากสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, จีน, อินเดีย และรัสเซีย ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า ทั้ง 3 ประเทศกำลังจับมือกันเพื่อคานอำนาจจีนที่กำลังแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้

แม้ว่าในงานแถลงข่าวจะไม่มีการเอ่ยถึงประเทศจีน แต่ AUKUS ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายและยุทธศาสตร์ของทั้ง 3 ประเทศที่มุ่งเน้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า จีนไม่พอใจสุดๆ และออกแถลงการณ์ประณาม แต่พันธมิตรอย่างสหภาพยุโรปก็ไม่ปลื้มเช่นกันที่ถูกมองข้ามในการทำข้อตกลงครั้งนี้

...

ข้อตกลง AUKUS คืออะไร?

AUKUS (ออกัส) คือข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลและเทคโนโลยีในหลายพื้นที่ รวมถึงข้อมูลข่าวกรอง, เทคโนโลยีควอนตัม และการพัฒนาขีปนาวุธร่อน แต่จุดที่เป็นกุญแจสำคัญคือ การสนับสนุนการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ให้แก่ออสเตรเลีย โดยมีสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรคอยให้คำปรึกษา

เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์มีขีดความสามารถทางทหารสูงมาก มันสามารถพรางตัวได้ดีกว่าเรือดำน้ำทั่วไป ปฏิบัติการใต้น้ำได้ยาวนาน เคลื่อนไหวได้ง่ายและยากที่จะตรวจจับ

ภายใต้ข้อตกลง AUKUS สหรัฐฯ กับสหราชอาณาจักรจะช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำ ที่เมืองอเดลเลด ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย แต่การผลิตอาจจะใช้เวลานานกว่าปกติ เนื่องจากออสเตรเลียไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางนิวเคลียร์ในประเทศ

นายกรัฐมนตรี มอร์ริสัน ย้ำด้วยว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์นี้จะถูกใช้เพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์ของเรือดำน้ำเท่านั้น พวกเขาไม่คิดจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศ

มีอะไรอีกนอกจากเรือดำน้ำ?

นอกจากการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย สนธิสัญญา AUKUS ยังมีนัยสำคัญที่กว้างขวางมากกว่านั้น เพราะมันจะช่วยขยายขอบเขตความร่วมมือระหว่าง ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ในด้านขีดความสามารถในการป้องกันและเทคโนโลยีอื่นๆ ออกไปอีก

ผู้นำของทั้ง 3 ประเทศ ระบุว่า พวกเขาจะให้ความสำคัญกับความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, ศักยภาพทางไซเบอร์ และคอมพิวเตอร์ควอนตัม เป็นอันดับแรก และมีความเป็นไปได้ที่ข้อตกลงไตรภาคีนี้จะครอบคลุมความร่วมมือในการพัฒนาและแบ่งปันขีดความสามารถทางทหารอื่นๆ เช่น ขีปนาวุธพิสัยไกล และระบบใต้น้ำ

ออสเตรเลียกำลังขอการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในการพัฒนาอาวุธนำวิธีและสรรพาวุธระเบิด เพื่อการสร้างขีปนาวุธพิสัยไกลในประเทศ ขณะที่สหราชอาณาจักรกับสหรัฐฯ ก็กำลังพัฒนายานปฏิบัติการใต้น้ำไร้คนขับเพื่อทำภารกิจข่าวกรองและสอดแนม AUKUS จึงเป็นตัวไปโอกาสให้ออสเตรเลียสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้

คานอำนาจจีนในเอเชีย-แปซิฟิก

...

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า สนธิสัญญา AUKUS นั้นมีขึ้นเพื่อรับมือกับจีนที่ทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นการส่งข้อความถึงประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่มุ่งมั่นขยายอิทธิพลของแดนมังกรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ในงานแถลงข่าวของผู้นำทั้ง 3 พวกเขาระมัดระวังไม่เอ่ยถึงประเทศจีน แต่คำพูดของพวกเขาแสดง “เจตนา” ที่ค่อนข้างชัดเจน โดยนายจอห์นสันกล่าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยปกป้องผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรในซีกโลกตะวันออก และปกป้องประชาชนในประเทศและเพิ่มการจ้างงาน ขณะที่แถลงการณ์ร่วมของทั้งสามระบุว่า สนธิสัญญาณจะนำมาซึ่งเสถียรภาพและความสงบอันยั่งยืนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ความเคลื่อนไหวล่าสุดยังเกิดขึ้นเพียงเดือนเดียวหลังจากสหรัฐฯ ถอนทหารจากอัฟกานิสถาน เพื่อไปมุ่งเน่นใน “ภูมิภาคอื่น” ขณะที่สหราชอาณาจักรก็อยากเพิ่มการมีส่วนร่วมในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเฉพาะหลังจากที่พวกเขาออกจากสหภาพยุโรป ส่วนออสเตรเลียกำลังกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ

นายกาย โบเคนไชตน์ ผู้อำนวยการอาวุโสของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกัน ของรัฐนอร์เทิร์น เทอร์ริทอรี ในออสเตรเลียกล่าวว่า สนธิสัญญาณ AUKUS ถือเป็น “เรื่องใหญ่” เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 3 ประเทศกำลังขีดเส้นแบ่ง เพื่อเริ่มและตอบโต้ความเคลื่อนไหวอันก้าวร้าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอินโด-แปซิฟิก

นอกจากนั้น การช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ก็นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามคานอำนาจของจีนที่ชัดเจน โดยนายไมเคิล ชูบริดจ์ ผู้อำนวยการแผนกความมั่นคงแห่งชาติ, ยุทธศาสตร์ และการป้องกัน ของสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ออสเตรเลีย กล่าวว่า การมอบเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์คือการป้องปรามที่ทรงพลังมาก โดยไม่ต้องให้อาวุธนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย

...

จีนไม่พอใจ EU ก็ไม่ปลื้ม

แน่นอนว่าสนธิสัญญาไตรภาคีฉบับนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประเทศจีน นายจ้าว หลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศออกแถลงการณ์ทันทีว่า ข้อตกลงนี้เสี่ยงทำลายความสงบในภูมิภาค และทำให้การแข่งขันสะสมอาวุธรุนแรงขึ้น เขายังประณาม สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ยังคงติดอยู่ในความคิดเรื่องสงครามเย็นและอคติ

แต่ข้อตกลงเดียวกับนี้กลับสร้างความไม่พอใจให้ฝรั่งเศสด้วย เพราะมันทำให้ออสเตรเลียยกเลิกแผนซื้อเรือดำน้ำพลังงานดีเซลของฝรั่งเศสมูลค่าถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พวกเขายังกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า แอบไปทำข้อตกลงกับออสเตรเลีย โดยตัดชาติพันธมิตรในยุโรปออกไปจากความพยายามในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

“นี่เป็นการแทงข้างหลัง เราสร้างความสัมพันธ์ที่น่าเชื่อถือกับออสเตรเลีย และความเชื่อใจนั้นถูกทรยศ” นายฌอง-อีฟ เลอ ดริยง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส กล่าว “การตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวที่คาดเดาไม่ได้และโหดร้ายนี้ ทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่นายทรัมป์เคยทำ มันทำลายความเชื่อใจกัน และผมโกรธมาก”

ด้านนายโจเซป บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า เขาเข้าใจได้ว่าทำไมฝรั่งเศสจึงผิดหวังในข้อตกลงนี้ เพราะไม่มีใครมาปรึกษาใดๆ กับ EU เกี่ยวกับการจับกลุ่มพันธมิตรใหม่นี้เลย “เรื่องนี้บีบเราอีกครั้ง...ให้ทบทวนถึงความจำเป็นในการให้ความสำคัญเรื่องยุทธศาสตร์การปกครองตนเองของยุโรป เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เราต้องอยู่รอดด้วยตัวของเราเอง”



ผู้เขียน : H2O

ที่มา : LBC , USSC , BBC

...