• ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสิงคโปร์กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จากอิทธิพลของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ทำให้แผนการเตรียมพร้อมประเทศเพื่ออยู่ร่วมกับไวรัสของพวกเขาต้องหยุดชะงัก

  • การระบาดระลอกล่าสุด ทำให้ทางการสิงคโปร์ต้องเพิ่มความเข้มงวดในมาตรการตรวจโรคและการเว้นระยะห่าง พวกเขายังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะหวนกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ด้วย

  • สิงคโปร์ไม่ใช่ชาติเดียวที่เปลี่ยนไปใช้ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับไวรัส แทนที่จะกำจัดไวรัสให้หมดไป แต่ประสบการณ์ที่เห็นจากประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หนทางการอยู่ร่วมกับไวรัสนั้น ยังห่างไกลนัก

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสิงคโปร์กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครึ่ง โดยพบถึง 1,200 รายในสัปดาห์ก่อน และทำลายสถิติผู้ติดเชื้อในวันเดียวมากที่สุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มไปอยู่ที่ 70,039 ราย และเสียชีวิตแล้ว 57 ศพ ขณะที่ทางการเริ่มส่งสัญญาณว่า พวกเขาอาจต้องกลับไปใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง หากยังยับยั้งการระบาดไม่ได้

ในวันจันทร์ (6 ก.ย.) นายลอว์เรนซ์ หว่อง หัวหน้าทีมเฉพาะกิจรับมือโควิด-19 ของสิงคโปร์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลกังวลตอนนี้ไม่ใช่แค่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่เพิ่มสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตราการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์เดลตาด้วย “เรารู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ ว่า เมื่อผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น ผู้ป่วยที่ต้องเข้าไอซียู หรือเสียชีวิตเพราะไวรัส จะเพิ่มขึ้นด้วย”

สิงคโปร์เพิ่งปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การรับมือโควิด-19 จากนโยบายกำจัดไวรัสให้หมดสิ้น ด้วยการใช้มาตรการเข้มงวดอย่างล็อกดาวน์ และปิดร้านค้าต่างๆ เป็นการอยู่ร่วมกับไวรัส โดยพยายามควบคุมการระบาดด้วยวัคซีนและสังเกตการณ์จำนวนผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล แทนที่การตั้งข้อจำกัดการใช้ชีวิตของผู้คน

แต่การระบาดระลอกล่าสุด กำลังเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลสิงคโปร์ ว่าพวกเขาจะฝ่าฟันวิกฤติ เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับไวรัส และนำความปกติกลับคืนมาได้หรือไม่

...

ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับไวรัส

สิงคโปร์ประกาศยุทธศาสตร์ การอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ในเดือนกรกฎาคม โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ค. นาย กัน คิม ยอง ประธานร่วมของทีมเฉพาะกิจรับมือโควิด-19 ของสิงคโปร์ ลุกขึ้นบอกกับสมาชิกรัฐสภาว่า รัฐบาลจะสามารถยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19 ทั้งในที่ทำงานและในสังคมได้ทั้งหมด หากการระบาดในสิงคโปร์ก้าวไปถึงสถานะ “โรคเฉพาะถิ่นแท้จริง” (truly endemic state)

สถานะดังกล่าวหมายถึง ประชาชนมีอัตราการฉีดวัคซีนในระดับสูง และมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนน้อย แม้ว่าจะมีคลัสเตอร์การติดเชื้อเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว

หลังจากนั้นในวันที่ 10 ส.ค. สิงคโปร์ก็เริ่มดำเนินแผน “ขั้นเตรียมการ” (preparatory state) โดยผ่อนคลายมาตรการควบคุม เพิ่มขีดจำกัดการรวมตัวในที่สาธารณะเป็น 5 คน, อนุญาตให้ผู้ฉีดวัคซีนครบแล้วทานอาหารในร้านได้แต่ไม่เกิน 5 คน และอนุญาตให้จัดงานอีเวนต์โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมอย่างจำกัด

ขั้นเตรียมการ เป็นช่วงที่ทางการใช้จัดแจงมาตรการทางสาธารณสุข รวมทั้งกฎการทำกิจกรรมทางสังคมและการเดินทาง เพื่อเตรียมความพร้อมให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่ยู่ร่วมกับไวรัสได้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจนถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งหากเป็นไปตามแผน พอถึงเวลานั้นจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสในประเทศจะบรรลุเป้าหมายที่ 80% แล้ว

นายอ่อง อี้ คัง (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีสาธารณสุขของสิงคโปร์คาดว่า หากถึงตอนนั้น ประเทศสามารถคงจำนวนผู้ป่วยและผู้ป่วยหนักให้คงที่ได้ ขณะที่ระบบสาธารณสุขจะไม่รับภาระหนักเกินไป รัฐบาลจะสามารถก้าวไปสู่ขั้นต่อไปที่เรียกว่า “ขั้นเปลี่ยนผ่าน เอ” (Transition Stage A) ซึ่งจะมีการเปิดเศรษฐกิจ, กิจกรรมทางสังคม และการเดินทางเพิ่มเติม ทำให้ชีวิตกลับมาเป็นปกติมากขึ้น แต่แน่นอนว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นไปด้วย

แผนสะดุด ยอดติดโควิดพุ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกันยายนมาถึง สิงคโปร์กลับไม่สามารถก้าวเข้าสู่ขั้นเปลี่ยนผ่าน เอ ได้ตามแผน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูง วันละไม่ต่ำกว่า 200 ราย และพบคลัสเตอร์ใหม่ที่สถานีเชื่อมต่อเส้นทางรถประจำทาง กับที่ บูกิส จังค์ชัน ทำให้นายลอว์เรนซ์ หว่อง ประกาศรับงับแผนการในวันที่ 3 ก.ย. เพื่อให้รัฐบาลประเมินสถานการณ์

ในตอนนั้น นายหว่องย้ำว่า ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโควิด-19 เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงมากอยู่แล้ว และกำลังเริ่มใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสมรณะชนิดนี้ “เราจะยกมาตรการเข้มงวดเช่นนั้นเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบโรงพยาบาลของเราต้องรับภาระหนักเท่านั้น”

แต่ไม่กี่วันต่อมา กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ในวันจันทร์ที่ 6 ก.ย. เรียกร้องให้ประขาชนจำกัดการเข้าร่วมการพบปะทางสังคมให้เหลือวันละ 1 ครั้งเท่านั้น ห้ามมีปฏิสัมพันธ์ในที่ทำงาน เพิ่มความถี่การตรวจโรคคนทำงานจากทุก 2 สัปดาห์ เป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และเพิ่มประเภทแรงงานที่ต้องตรวจโรคให้ครอบคลุมพนักงานค้าปลีก, พนักงานส่งของ และเจ้าหน้าที่ขนส่งสาธารณะด้วย

ด้านนายหว่องกล่าวในวันเดียวกันว่า รัฐบาลไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะกลับไปเพิ่มการเฝ้าระวัง หรือใช้มาตรการ “circuit breaker” ซึ่งเป็นชื่อที่สิงคโปร์ใช้เรียกมาตรการล็อกดาวน์ หากจำนวนผู้ป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าไอซียูหรือต้องให้ออกซิเจนเพิ่มสูงขึ้น “อย่างที่ผมพูดเมื่อสัปดาห์ก่อน มาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวเลือกสุดท้าย และเราจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะไม่ใช้มัน แต่เราไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ทั้งหมดออกไปได้”

ในวันพุธที่ 8 ก.ย. สิงคโปร์รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 347 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในชุมชนถึง 329 ราย มากที่สุดนับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2563 ขณะที่มีผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล 664 ราย นจำนวนนี้ป่วยหนักและต้องให้ออกซิเจน 23 ราย และมีผู้ป่วยอาการวิกฤติอยู่ในห้องไอซียูอีก 6 ราย

...

เสียงเตือนจากประเทศอื่น

สิงคโปร์ไม่ใช่ชาติเดียวที่กำลังดำเนินยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 แต่ในขณะที่พวกเขาค่อยๆ คืบหน้าอย่างระมัดระวัง บางประเทศกลับยกเลิกการล็อกดาวน์ และผ่อนคลายข้อจำกัดมากมายในคราวเดียว ซึ่งประสบการณ์ของประเทศเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หนทางการอยู่ร่วมกับไวรัสนั้น ยังห่างไกลนัก

เช่นที่อิสราเอล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก พวกเขาเริ่มคลายล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และยกเลิกมาตรการเกือบทั้งหมดรวมทั้งการสวมหน้ากาก ในวันที่ 15 ก.ย. หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำกว่า 20 รายและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบโดสเกินครึ่งของประชากรทั้งหมด

ทว่า 10 วันต่อมา พวกเขาต้องกลับมาบังคับใส่หน้ากากในที่ร่มอีกครั้ง เนื่องจากผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทะลุหลักร้อยติดต่อกันหลายวัน จากการมาของโควิด-19 ก่อนจะหวนกลับมาใช่ระบบกรีนการ์ด ยืนยันว่าฉีดวัคซีนแล้วก่อนเข้าสถานที่ต่างๆ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มขึ้นอยู่ต่อเนื่อง จากหลักพันเป็นหลักหมื่นในเดือนสิงหาคมและกันยายน จนทางการต้องออกมาเตือนว่า อาจกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น

ส่วนที่อังกฤษ พวกเขาผ่อนคลายมาตรการเกือบทั้งหมดในวันที่ 19 ก.ค. เปิดร้านค้า ไม่จำกัดคนรวมตัว และไม่บังคับสวมหน้ากาก ทั้งที่ตอนนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่วันละเกือบ 50,000 ราย แต่ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันหลังจากนั้นก็ลดต่ำลงไปทรงตัวอยู่ที่วันละประมาณ 20,000 ราย

แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในอังกฤษกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังเข้าสู่เดือนกันยายน ด้วยอิทธิพลของโควิดเดลตา โดยพบผู้ติดเชื้อถึง 37,489 รายในวันอังคารที่ผ่านมา ขณะที่อัตราการเสียชีวิตยังต่ำเฉลี่ย 135 ในระยะเวลา 7 วัน แต่จำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยอดล่าสุดอยู่ที่ 7,976 ราย และมีมากกว่า 1,000 รายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

ด้านออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในประเทศล่าสุดที่เตรียมใช้ยุทธศาสตร์อยู่ร่วมกับไวรัส โดยพวกเขาจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการเมื่ออัตราการผู้ฉีดวัคซีนครบโดสแตะ 70% แม้ว่าตอนนี้ตัวเลขดังกล่าวจะอยู่ที่ 38.4% เท่านั้น ท่ามกลางเสียงเตือนจากนักระบาดวิทยาว่า หากผ่อนคลายมาตรการเร็วเกินไป ก่อนที่อัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มคนเปราะบางจะสูงเพียงพอ ผลที่ตามมาอาจเป็น มหันตภัย แทนที่จะเป็นการใช้ชีวิตอย่างปกติก็เป็นได้




ผู้เขียน : H2O

ที่มา : channelnewsasia, cnn

...