• อังกฤษยังเดินหน้าหนุนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปรับวัคซีน แม้มีเสียงคัดค้านจากคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของอังกฤษ ที่วิเคราะห์ว่าอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี
  • ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนชี้ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากโรคโควิดในกลุ่มอายุนี้ยังอยู่ในระดับต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงด้านสุขภาพจากการฉีดวัคซีนในระยะยาวที่อาจจะรุนแรงมากกว่า
  • สำนักงานการแพทย์ยุโรป อนุมัติให้ใช้ไฟเซอร์กับเด็กอายุมากกว่า 12 ปี เมื่อเดือน พ.ค. หลังงานวิจัยพบว่าภูมิคุ้มกันตอบสนองในเด็กอายุ 12-15 ปี คล้ายกับคนอายุ 16-25 ปี โดยพบว่าอาการข้างเคียงที่เจอเหมือนผู้ใหญ่ อาทิ อาการปวดหัว ซึ่งหลายประเทศ รวมถึงแคนาดาและบราซิล เริ่มให้วัคซีนกับเด็กแล้ว

ยังคงเป็นข้อถกเถียงที่สร้างความสับสนให้แก่ประชาชน ว่าการให้วัคซีนต้านโควิด-19 แก่เด็กอายุ 12-15 ปี จะได้ประโยชน์คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ หลังจากที่คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของอังกฤษ หรือ เจซีวีไอ (JCVI) ออกมาคัดค้านแนวทางดังกล่าว เนื่องจากวิเคราะห์แล้วว่าอาจจะมีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากโรคโควิดในกลุ่มอายุนี้ยังอยู่ในระดับต่ำมาก หากเปรียบเทียบกับผลข้างเคียงด้านสุขภาพ จากการฉีดวัคซีนในระยะยาวที่อาจจะรุนแรงมากกว่า เช่น การเกิดภาวะหัวใจอักเสบ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็ออกมาสำทับด้วยว่า การผลักดันให้เด็กไปรับวัคซีนเพื่อเป็นการปกป้องผู้ใหญ่ อาจจะเป็นการทำผิดจริยธรรม เพราะจริงๆ แล้วโรคโควิด-19 ถือว่ามีความรุนแรงในกลุ่มเยาวชนค่อนข้างน้อย

ขณะเดียวกันก็ยังมีความเห็นบางส่วนที่มองว่า การที่เด็กๆ ได้รับเชื้อโควิด-19 อาจจะดีกว่า เพราะจะทำให้เด็กๆ มีการสร้างภูมิคุ้มกันธรรมชาติรับมือกับโรค ดีกว่าจะพึ่งพาการป้องกันจากวัคซีน ซึ่งจากผลวิจัยก็ชี้ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเพียงไม่กี่เดือน

...

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษมีทีท่าว่าจะเดินหน้าผลักดันให้เยาวชนอายุ 12-15 ปี เร่งรับวัคซีนโควิด-19 ตามแผนเดิม เพราะมองว่าหากนักเรียนได้รับวัคซีนแล้วจะทำให้การเปิดเรียนเป็นไปอย่างราบรื่นไม่สะดุด โดยขณะนี้มีเด็กอายุ 12-15 ปี ราว 350,000 คน ที่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19

ศาสตราจารย์ จอห์น เอ็ดมันด์ส นักระบาดวิทยาแห่งสถาบันด้านสาธารณสุขและสถาบันการวิจัยสำหรับบัณฑิตศึกษา ระบุว่า รัฐบาลควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงการที่จะฉีดวัคซีนให้เด็ก ซึ่งนับเป็นเรื่องยากในการตัดสินใจ และต้องใช้มุมมองที่กว้างกว่าที่คณะกรรมการเจซีวีไอมอง เพราะนอกจากเรื่องสุขภาพแล้ว โควิดยังมีผลกระทบกับเด็กๆ ในแง่ของการศึกษา การพัฒนา และการเรียนรู้ของพวกเขาด้วย โดยในเวลานี้ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะระบุชัดเจนว่ามีเด็กอีกเท่าไรที่ยังไม่ติดเชื้อ บางทีอาจจะอยู่ที่ราวๆ ครึ่งต่อครึ่ง หรือประมาณ 6 ล้านคน ดังนั้นมันจะยังเป็นหนทางอีกยาวไกล ถ้าหากปล่อยให้เด็กเหล่านี้ติดเชื้อเพิ่มอีก และมันจะส่งผลให้การเปิดเรียนต้องหยุดชะงักในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่ นางจิลเลียน อีวานส์ หัวหน้าหน่วยงานสาธารณสุขในสกอตแลนด์ ระบุว่า การฉีดวัคซีนให้เด็ก จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส และจะป้องกันเด็กจากอาการเรื้อรังของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดในระยะยาวด้วย โดยเธอระบุว่า เธอเข้าใจในการตัดสินใจของคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของอังกฤษ ที่พิจารณาจากผลประโยชน์ของเด็กๆ แต่ละคน และความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กเหล่านั้น แต่การตัดสินใจแนวทางนี้ยังขาดการพิจารณาผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หัวหน้าหน่วยงานสาธารณสุขอย่างเธอจะต้องพิจารณาในภาพกว้างด้วย และแม้ว่าอาการเรื้อรังของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดในระยะยาวในกลุ่มเด็กอาจจะดูเล็กน้อย แต่ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับโรคนี้

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค หรือ เจซีวีไอ ได้อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างกับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนเพิ่มมาเป็นกลุ่มอายุ 16 และ 17 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว และจากนั้นเป็นต้นมาก็มีแรงกดดันทางการเมืองที่พยายามจะให้มีการอนุมัติฉีดวัคซีนขยายไปยังกลุ่มอายุ 12-15 ปี เนื่องจากกลัวว่ากลุ่มเด็กๆ จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ เมื่อเริ่มเปิดเรียนในภาคการศึกษาใหม่ที่กำลังมาถึง อย่างไรก็ตาม ทางรองประธานเจซีวีไอ ศาสตราจารย์ แอนโทนี ฮาร์นเดน ระบุว่า ทางคณะกรรมการมีอิสระในการตัดสินใจ และมีหน้าที่ให้คำแนะนำตามข้อมูล แม้ว่าจะมีแรงกดดันออกมาอย่างต่อเนื่อง และต้องการจะทราบคำตอบให้ได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว เราจะดำเนินการอย่างไรกับแผนของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ หรือ เอ็นเอชเอส (NHS)

...

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนที่แล้วที่สกอตแลนด์เริ่มเปิดเรียนตามปกติ ก็พบว่าการติดเชื้อในกลุ่มนักเรียนเพิ่มขึ้นสูงสุด นับตั้งแต่พบการระบาด
ขณะที่ในสัปดาห์นี้ ทางเอ็นเอชเอสได้รับพนักงานหลายพันคน เพื่อออกปฏิบัติการฉีดวัคซีนให้ตามโรงเรียน ระหว่างที่รอคำแนะนำจากเจซีวีไอ

โดยสถานการณ์กดดันในประเด็นนี้มีมาต่อเนื่องหลายสัปดาห์ จนกระทั่ง นายกาวิน นิวซัม รัฐมนตรีศึกษาธิการของอังกฤษ ออกมาแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (2 ก.ย.) ว่า การให้วัคซีนกับเด็กอายุ 12-15 ปีนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจและอุ่นใจให้กับผู้ปกครองได้ แต่ทางเจซีวีไอก็ยังคงยืนยันตามคำแนะนำเดิม ที่แนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี เฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น เด็กที่มีความพิการทางระบบประสาท มีอาการดาวน์ซินโดรม มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง รวมถึงเด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคไต โรคปอด หรือมะเร็ง ราว 200,000 คนในอังกฤษเท่านั้น ที่ควรเข้ารับวัคซีนต้านโควิด-19 ก่อน ส่วนการฉีดวัคซีนให้เด็กกลุ่มอื่นๆ ยังคงต้องพิจารณาหาความสมดุลระหว่างความเสี่ยงด้านสุขภาพ และผลประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ด้านการศึกษา

ขณะที่ นายซาจิด จาวิด รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษ ระบุว่า การพิจารณาใช้วัคซีนกับเยาวชนวัย 12-15 ปี จะเป็นการพิจารณาร่วมกันกับรัฐมนตรีสาธารณสุข 4 ชาติ รวมทั้งพิจารณาจากคำแนะนำของหัวหน้าด้านสาธารณสุข และเจซีวีไอด้วยเช่นกัน ซึ่งจะต้องเร่งหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ล่าสุดมีหลายชาติที่เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่เด็กๆ อายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว อย่างในสหภาพยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และอิตาลี ส่วนเยอรมนีตัดสินใจให้วัคซีนไฟเซอร์กับเด็กอายุมากกว่า 12 ปี แต่เฉพาะที่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว สหรัฐฯ แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีทุกคน และมีรายงานว่าจะฉีดวัคซีนให้เด็กอายุน้อยถึง 4 ขวบ ในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง และรัฐบาลฮ่องกงเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กที่อายุเกิน 12 ปีแล้ว โดยส่วนหนึ่งคืออยากให้พวกเขากลับสู่ชีวิตและการเรียนตามปกติให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ยังมีแคนาดาและบราซิล ที่เริ่มให้วัคซีนกับเด็กแล้วเช่นกัน.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล