หากกล่าวถึงเครื่องดื่มที่เรียกว่า “ชา” คนไทยส่วนใหญ่รู้หรือไม่ว่า ชาเขียวญี่ปุ่นชาอู่หลงและชาดำได้มาจากต้นชาเหมือนกัน เพียงแต่กระบวนการในผลิตที่แตกต่างออกไปเท่านั้นเอง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ชาเขียวญี่ปุ่น (ไม่ผ่านกระบวนการหมัก) ชาอู่หลง (ผ่านกระบวนการกึ่งหมักหรือหมักบางส่วน) และชาดำ (ผ่านกระบวนการหมักอย่างสมบูรณ์)

นอกจากนี้ เมื่อเด็ดใบชา เอ็นไซม์ในใบชาจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันขึ้นทันที (ทำให้สีใบหรือรสชาติเปลี่ยนไป) และในญี่ปุ่นยังมีอีกหลายประเภทที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน เช่นวิธีการปลูก ส่วนของใบชาที่ใช้ วารสาร “จากญี่ปุ่น” ของสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย จึงชวนแนะนำชาแต่ละประเภทที่น่าสนใจ

“มัทฉะ” ทำจากใบชาที่ปลูกในพื้นที่ร่มด้วยการบังแดดเป็นระยะเวลานานกว่า 20 วัน จากนั้นนำใบอ่อนที่เก็บเกี่ยวได้ไปนึ่งหรือทำให้แห้งผ่านกระบวนการนี้ว่า “เทนฉะ” แล้วนำไปบดในเครื่องโม่หินจนเป็นผงที่เรียกว่า “มัทฉะ” ทำให้มีสารธีอะนินปริมาณมาก รสเข้มข้นฝาดเพียงเล็กน้อย เทน้ำร้อนอุณหภูมิ 80 องศาฯ

“เกียวคุโระ” ปลูกในที่ร่มใช้เวลาเช่นเดียวกับชา “มัทฉะ” จากนั้นนำไปนวดอย่างพิถีพิถันจนใบชาแห้ง ชาเกียวคุโระถือเป็นชาระดับสูง มีกลิ่นหอมและรสชาติเข้มข้นกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ ชงในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50-60 องศาฯ จิบชาทีละนิดเพื่อรับรสชาติ

“เซนฉะ” เป็นชาที่มีปริมาณการปลูกในญี่ปุ่นสูง 70-80% เป็นชาที่ชาวญี่ปุ่นชอบมากที่สุด ปลูกกลางแดดโดยไม่มีร่มเงาบัง นำใบชาอ่อนไปนึ่งแล้วนวดต่อจนใบแห้ง เซนฉะมีเอกลักษณ์สีเขียวสด จะให้กลิ่นหอมและรสชาติดีที่สุดเมื่อชงด้วยน้ำร้อน 80 องศาฯ ทำให้ได้รสหวานปนฝาดไปพร้อมๆกัน

...

“เกนไมฉะ” ทำจากเซนฉะ ที่มีใบขนาดใหญ่เกินกว่าทำชาเซนฉะ ผสมกับข้าวกล้องคั่ว 1 ส่วนเท่ากัน ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการใส่ข้าวพองเพื่อช่วยเพิ่มกลิ่นให้ยิ่งหอม วิธีการชงชาเกนไมฉะที่ดีสุด คือชงด้วยน้ำร้อนแช่เพียงเวลาสั้นๆ มีสรรพคุณช่วยผ่อนคลายเพราะอุดมไปด้วยวิตามินบี 1

“โฮจิฉะ” มาจากชา “เซนฉะ” อบด้วยความร้อนสูงจนสีใบชาเปลี่ยนแล้วนำไปคั่ว วิธีชงชาเช่นเดียวกับ “เกนไมฉะ” มีรสชาติสดชื่น ขมฝาดเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีสารคาเฟอีนน้อยจึงเป็นชาที่เด็กและผู้สูงวัยดื่มได้...