การพิมพ์ทางชีวภาพอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากวัสดุที่ใช้มักจะอ่อนเกินไป ซึ่งหมายความว่าโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ที่มองเห็นอาจพังในระหว่างการพิมพ์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานยาง ในสิงคโปร์ จึงคิดค้นวิธีแก้ปัญหาดังกล่าวโดยสร้างวัสดุใหม่ที่เชื่อว่าจะทำงานได้ดีกว่า

ทีมนักวิทยาศาสตร์เผยว่า ได้ปรับแต่งคุณสมบัติทางกลของเรณูหรือละอองเกสรดอกทานตะวัน มาพัฒนาวัสดุพิมพ์ 3 มิติที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับงานวิศวกรรมเนื้อเยื่อ หรือนำไปทดสอบความเป็นพิษ รวมทั้งนำส่งยารักษาโรค ทีมระบุว่าสารผสมที่ได้จากละอองเรณูสามารถคงรูปร่างไว้ได้เมื่อวางลงบนพื้นผิว ทำให้เป็นทางเลือกต่อการใช้งานแทนสารปัจจุบันที่ใช้สำหรับการพิมพ์ 3 มิติในงานชีวการแพทย์ และเพื่อเป็นการพิสูจน์แนวคิดนี้ ทีมได้พิมพ์โครงเลี้ยงเซลล์ 5 ชั้นสำหรับการเพาะเลี้ยงเซลล์ในเวลา 12 นาที แล้วเติมคอลลาเจนลงในโครงเลี้ยงเซลล์เพื่อให้มีจุดยึดที่เซลล์จะเกาะติดและเติบโตได้ จากนั้นได้เพาะเซลล์ของมนุษย์ไว้บนโครงเลี้ยงเซลล์ ซึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพในการเพาะเซลล์สูงถึง 96-97%

ทั้งนี้ การใช้ละอองเกสรสำหรับการพิมพ์ 3 มิติถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญ เพราะกระบวนการผลิตสารจากละอองเรณูมีความยั่งยืนและราคาไม่สูง อีกทั้งละอองเรณูก็มีหลายประเภทที่มีขนาด รูปร่าง และคุณสมบัติพื้นผิวที่แตกต่างกัน สารแขวนลอยขนาดเล็กของละอองเกสรดอกไม้จึงนำมาใช้เพื่อสร้างวัสดุการพิมพ์ 3 มิติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประเภทใหม่ๆได้.