ประวัติศาสตร์ประชากรมนุษย์สมัยใหม่ช่วงยุคแรกๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัด เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีมีน้อยมาก และสภาพภูมิอากาศในเขตร้อนก็ไม่อาจรักษาสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ของมนุษย์ในยุคโบราณได้
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนานาชาติ นำโดยนักวิจัยของสถาบันมักซ์ พลังค์ ด้านมานุษยวิทยาวิวัฒนาการ ในเยอรมนี ได้รายงานถึงการสำรวจในภูมิภาควอลเลเซีย (Wallacea) ซึ่งครอบคลุมหมู่เกาะที่อยู่ระหว่างทางตะวันตกของอินโดนีเซียและปาปัวนิวกินี ทีมได้แยกสารพันธุกรรมออกจากกระดูกหูชั้นในของกะโหลกศีรษะมนุษย์เพศหญิงอายุ 17-18 ปี ถูกฝังเมื่อ 7,200 ปีก่อนที่ถ้ำ Leang Panninge หรือถ้ำค้างคาวบนเกาะสุลาเวสีของอินโดนีเซีย ผู้ค้นพบได้ตั้งชื่อแก่หญิงสาวผู้นี้ว่า Bessé พร้อมกับระบุว่าเธอเป็นชนเผ่านักล่าสัตว์หาของป่าลึกลับที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ โดยอยู่ในช่วงของวัฒนธรรม Toalean
นักวิจัยเผยว่านี่คือหลักฐานทางพันธุกรรมโดยตรงครั้งแรกของชาว Toalean โดยชี้ว่ามนุษย์ที่ฝังอยู่ที่ Leang Panninge ข้องเกี่ยวกับมนุษย์ยุคปัจจุบันกลุ่มแรกที่กระจายตัวจากดินแดนยูเรเซียไปยังโอเชียเนียเมื่อ 50,000 ปีก่อน จีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์โบราณที่ Leang Panninge นอกจากจะเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาควอลเลเซีย ยังบ่งชี้ความสัมพันธ์ของมนุษย์โบราณที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน อีกทั้งยังมีร่องรอยดีเอ็นเอของมนุษย์เดนิโซแวน (Denisovan) ซึ่งเป็นกลุ่มมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้วและค้นพบในไซบีเรีย รวมถึงทิเบตเป็นส่วนใหญ่.
Credit : Hasanuddin University, Indonesia