- การทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งการเรียนออนไลน์ กลายเป็นวิธีที่แพร่หลายเพื่อช่วยคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ผลเสียที่ตามมาโดยเฉพาะสุขภาพสายตา ก็น่ากังวลไม่แพ้กัน
- การทำงานจากที่บ้าน ทำให้ตารางเวลาพักต่างๆ ไม่แน่นอน ซึ่งอาจจะยิ่งลดโอกาสในการพักสายตาลง เพราะนอกจากจ้องคอมพิวเตอร์เพื่อพิมพ์งานแล้ว เวลาพักก็หันมาหยิบโทรศัพท์มือถือ แถมยังไม่ต้องออกไปทานข้าวข้างนอกออฟฟิศด้วย ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวน้อยลง
- สภาพการทำงานจากที่บ้านของหลายคนก็ไม่ได้มาตรฐานเหมือนสถานที่ทำงาน ทั้งหน้าจอที่มีขนาดเล็กลง แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลเสียต่อสายตาเช่นกัน
นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 บริษัทส่วนใหญ่ทั่วโลกต่างต้องใช้นโยบาย Work From Home ให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน เพื่อลดการเดินทาง และลดโอกาสเสี่ยงในการติดโรค และแพร่เชื้อโรคโควิด-19 โดยในช่วงแรก นโยบายนี้ดูจะเป็นนโยบายระยะสั้นที่ปฏิบัติต่อเนื่องเพียงไม่นาน เพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่จนถึงวันนี้ผ่านมานานเกือบ 2 ปีเต็ม หลายบริษัทยังคงต้องใช้นโยบายนี้ต่อไป เพราะการระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น จนเริ่มเห็นปัญหาในระยะยาวเกี่ยวกับสุขภาพสายตาของผู้ปฏิบัติงาน
...
Work from Home ยืดเวลาการทำงาน
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนที่ทำงานจากที่บ้านใช้สายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าการเข้าปฏิบัติงานในออฟฟิศ เนื่องจากขอบเขตระยะเวลาในช่วงพักเบรกที่ไม่มีความชัดเจน โดยพบว่าการทำงานจากที่บ้านมักจะมีการพักเบรกน้อยกว่าการเข้าทำงานที่ออฟฟิศ อีกทั้งยังต้องมีการประชุมผ่านทางหน้าจอ ทำให้ละสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ จนเกิดโรคทางสายตาตามมา โดยเฉพาะอาการมองเห็นเงาดำลอยไปมา หรือเห็นแสงวาบคล้ายแฟลช
ดร.เวสลีย์ ชง จากศูนย์ตาแห่งชาติสิงคโปร์ ระบุว่า เมื่อเข้าทำงานที่ออฟฟิศ ส่วนใหญ่เมื่อพักเบรกเพื่อนร่วมงานก็จะชวนกันออกไปทานข้าว หรือทานกาแฟ เพื่อพักสายตาจากหน้าจอ แต่เมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน นอกจากจะต้องจ้องหน้าจอแล้ว เมื่อพักเบรกก็ยังต้องติดต่องานผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้สภาพแวดล้อมภายในบ้านอาจจะไม่เอื้อต่อการทำงานเป็นระยะเวลานานมากนัก ตามแต่ข้อจำกัดของแต่ละบ้าน เช่น พนักงานอาจจะมีหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กลง หรือต้องทำงานจากไอแพด และแสงสว่างอาจจะไม่เพียงพอ
ขณะที่ ดร.เดวิด ชาน ที่ปรึกษาอาวุโสการผ่าตัดตา ที่ศูนย์เชี่ยวชาญด้านจักษุแอตลาส หนึ่งในปัจจัยที่ทำร้ายสุขภาพตาของคนทำงานจากที่บ้าน ก็คือการทำงานที่ไม่ฟิกซ์เวลา ทำให้ระยะเวลาในการทำงานนานขึ้น เพราะไม่มีเวลาเริ่มงานหรือเลิกงานชัดเจน ทำให้สายตาต้องใช้งานหนัก ส่งผลเสียต่อการมองเห็น แม้แต่การสื่อสารพูดคุยแบบเจอหน้ากันก็ต้องเปลี่ยนเป็นการพูดคุยผ่านหน้าจอ ยิ่งเพิ่มเวลาในการใช้หน้าจอให้นานขึ้น หรือแม้แต่การพักผ่อนที่บ้านคนส่วนใหญ่จะดูหน้าจอแท็บเล็ต มือถือ หรือดูโทรทัศน์ในยามว่าง เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพสายตาทั้งสิ้น
ดร.ชาน ระบุว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 จนถึงเดือนพฤษภาคมของปีนี้ ทางศูนย์เชี่ยวชาญด้านจักษุ พบว่ามีคนไข้เพิ่มมากขึ้นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีทั้งอาการตาล้า ตาแห้ง และตามองเห็นเงาจุดดำ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเพ่งหน้าจอเป็นเวลานาน โดยไม่มีการพักเบรกอย่างเหมาะสม โดยในช่วงที่เพ่งหน้าจอ คนเราจะมีการกะพริบตาน้อยลง และทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ ส่วนคนที่สวมแมสก์และออกไปทำงานข้างนอก การสวมแมสก์จะทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ เนื่องจากมีลมจากส่วนบนของแมสก์ตีขึ้นมาที่ดวงตา
ส่วนอาการตาล้าจะเกิดจากการทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีแสงไม่เพียงพอ การเพ่งอ่านตัวหนังสือที่มีขนาดเล็ก หรือหน้าจอที่มีขนาดเล็กเกินไป โดยพบว่าคนที่ทำงานกับหน้าจอที่มีความสว่างจ้า หรือมีแบ็กกราวน์สีสว่าง เช่น โปรแกรมเวิร์ด หรือ สเปรดชีต มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการมองเห็นเงาดำลอยไปมาได้บ่อยที่สุด
พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากโรคระบาด
ทั้งภาวะโควิดระบาดที่ทำให้คนต้องทำงานจากบ้านด้วยการจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน รวมทั้งการสวมแมสก์ตลอดเวลาจนเกิดไอน้ำที่แว่นตา ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมองเห็นของคนที่สวมแว่นสายตา โดยจะเห็นตัวเลขของคนที่ขอเข้ารับการผ่าตัด หรือทำเลสิกเพื่อที่จะได้ไม่ต้องสวมแว่นสายตาจำนวนมาก นอกจากนี้จากปัจจัยที่ผู้คนไม่ได้เดินทางไปท่องเที่ยวจากการจำกัดการเดินทาง ทำให้พวกเขามีเวลา และเงินเหลือพอที่จะนำมาดูแลตัวเองอย่างผ่าตัดตาได้ในช่วงนี้
นอกจากนี้ข้อมูลจากจอนห์สันแอนด์จอนห์สันผู้ผลิตคอนแทคเลนส์ ยังพบความเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของคนที่สวมคอนแทคเลนส์ จากเดิมที่อาจจะใช้รายเดือน หรือรายสัปดาห์ กลับเปลี่ยนมาใช้คอนแทคเลนส์รายวันแทนเพื่อความสะอาดและสุขอนามัยที่ดีขึ้น
...
ผลกระทบต่อนักเรียนนักศึกษา
นางสาวชุ่ย เหวิน จวน รองประธานสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาประเทศสิงคโปร์ ระบุว่ามีแนวโน้มของเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาด้านสายตาจนต้องสวมแว่นเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเรียนออนไลน์เป็นเวลานาน รวมทั้งเกิดจากภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้นักเรียนไม่ได้ตรวจเช็กสายตาอย่างสม่ำเสมอตามที่ควรจะเป็น รวมทั้งการขาดกิจกรรมที่ออกไปเคลื่อนไหวกลางแจ้ง ต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน ทำให้เด็กๆ อยู่แต่กับหน้าจอแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ ทำให้เด็กมีโอกาสสายตาสั้นมากขึ้นด้วย
...
จะปกป้องดวงตาได้อย่างไร ?
ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่า การพักสายตา การกะพริบตาบ่อยๆ รวมทั้งจัดวางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ถูกที่ถูกทาง ล้วนแล้วแต่ช่วยปกป้องสายตาได้ โดยการพักสายตาจากหน้าจอ ทำได้ด้วยการมองออกไปไกลๆ อย่างน้อย 3 เมตรหรือไกลกว่านั้น เป็นระยะเวลานานราว 20 วินาทีไปจนถึง 20 นาที
ขณะที่ ดร.เวสลีย์ ชง จากศูนย์ตาแห่งชาติสิงคโปร์ แนะนำว่า การตั้งหน้าจอคอมพิวเตอร์ 5-40 องศาตำ่กว่าระดับสายตาของตัวเอง และตั้งหน้าจอให้ห่างออกไปราว 2 ฟุต จะเป็นระดับที่เหมาะสมและสบายตารวมทั้งคอมากที่สุด และเพื่อป้องกันไม่ให้สายตาของเราย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ก็ควรพาตัวเองออกไปูดอากาศและยืดเส้นยืดสายนอกบ้านบ้าง
แพทย์หญิง นาตาชา ลิม เจ้าของคลินิกสายตา ระบุว่า เมื่อเราใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือสามาร์ทโฟน อัตราการกะพริบตาโดยอัตโนมัติจะลดลงจากปกติทุกๆ 15 วินาที กลายมาเป็นกะพริบตาทุกๆ 2-3 นาทีแทน ดังนั้นคนที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอเป็นเวลานานควรเตือนตัวเองให้กะพริบตาบ่อยๆ รวมทั้งควรจะใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและปกป้องกระจกตา เพราะการที่ปล่อยให้ตาแห้งจะทำให้การมองเห็นภาพซ้อนได้ โดยแพทย์หญิงลิมยังได้เปรียบเทียบการดูแลดวงตากับการการดูแลผิวของเราว่ามีความคล้ายคลึงกัน “หากคุณไม่ดูแลผิว ปล่อยให้ผิวแห้ง เมื่อคุณอายุมากขึ้นก็จะเกิดริ้วรอยจำนวนมาก การทำให้ผิวชุ่มชื้น ก็จะทำให้ผิวดูสุขภาพดี เช่นเดียวกับดวงตา หากมีการดูแลป้องกันไม่ให้ดวงตาแห้ง ก็จะทำให้ยังมีสุขภาพตาที่ดี มองเห็นได้ชัดเจนแม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม” เธอกล่าว.
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย , ดิอินดิเพนเดนท์ , เดอะเฮลท์ไซต์
...