รัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เลือกดาโตะ เอรีวันเปฮิน ยูซอฟ รมว.ต่างประเทศบรูไนคนที่สองเป็นทูตพิเศษประจำเมียนมา ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่4ส.ค. นับเป็นความก้าวหน้าหลังจากล่าช้ามาหลายเดือน เพื่อปฏิบัติภารกิจในการไกล่เกลี่ยเปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเมียนมา ช่วยยุติความรุนแรง นับแต่เกิดรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. และดูแลความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมาทำให้ประเทศตกอยู่ในความวุ่นวายโกลาหล มีการปราบปรามการประท้วง เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ปัญหาด้านมนุษยธรรมยิ่งเลวร้ายจากวิกฤติโควิด-19 ที่ระบาดรุนแรง ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติและหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนได้เรียกร้องให้ 10 ชาติอาเซียนเป็นหัวหอกในการใช้ความพยายามทางการทูตเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในเมียนมา การแต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมาเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางแก้ไข แต่กลับล่าช้าหลายเดือนจากความไม่ลงรอยกันภายในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน เอรีวัน เป็นหนึ่งในผู้สมัครอย่างน้อย 4 คน ที่เสนอโดยอาเซียน ในขณะที่เชื่อว่าทางการเมียนมาต้องการตัวแทนจากไทยมากกว่า ทั้งนี้การตัดสินใจยอมรับการแต่งตั้งทูตพิเศษประจำเมียนมา และกระบวนการเจรจาต่ออาเซียนครั้งนี้ หลังจากที่ต้องใช้เวลาในการเกลี้ยกล่อมอย่างยากลำบากมาก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมายังหวังพึ่งพาการสนับสนุนจากอาเซียนหลังจากถูกรุมประณามจากนานาชาติ

ด้านนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวยินดีต่อการแต่งตั้งดังกล่าว เรียกว่าเป็นก้าวสำคัญสู่การดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการที่ผู้นำอาเซียนรับรองเมื่อเดือน เม.ย. ยังเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาเคารพความต้องการของประชาชน เลี่ยงการใช้ความรุนแรง และดำเนินการเพื่อสันติภาพ การพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมให้ประกันการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมโดยปราศจากการขัดขวาง อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าทางการเมียนมาจะอนุญาตให้สามารถเข้าถึงนางอองซาน ซูจี ที่ถูกควบคุมตัวได้หรือไม่

...

วันเดียวกันนายจอ โม ตุน เอกอัครราชทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ ซึ่งปฏิเสธจะออกจากตำแหน่งแม้ถูกสั่งปลด ได้ส่งจดหมายถึงนายกูเตอร์เรส รายงานการสังหารหมู่โดยกองทัพเมียนมา โดยระบุว่าพบ 40 ศพ ในเขตสะกายของเมียนมาเมื่อเดือน ก.ค. พร้อมย้ำให้คว่ำบาตรการขายอาวุธต่อรัฐบาลทหารเมียนมา และเรียกร้องประชาคมนานาชาติแทรกแซงด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน.