พ.ศ.2562 ผมและพ่อได้รับเชิญให้ไปเยือนโรงเรียนเสริมความสามารถพิเศษ ซึ่งเป็นกิจการของญาติภรรยาที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี พบว่าเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก ทั้งตอนเย็นและวันเสาร์อาทิตย์ ผู้ปกครองพาบุตรมาเรียนการร้องเพลง การพูด การเป็นพิธีกร การเล่นดนตรี การเต้นรำแบบจีน การเต้นรำแบบสากล การเดินแบบ ฯลฯ รอคิวกันล้นสถาบัน
หลังจากนั้น ผู้ปกครองก็พาบุตรหลานรวมแล้วเป็นร้อยคน เดินทางจากหนานหนิงมาแข่งขันความสามารถพิเศษที่สวนนงนุชพัทยาเปิดฟ้าส่องโลก โดยเชิญพ่อผมเป็นประธาน เยาวชนที่ร่วมทริปล้วนมาจากครอบครัวที่ฐานะดี เมื่อได้พูดคุยกันก็พบว่า ทุกคนเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นวิชาการในโรงเรียน กวดภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นที่จำเป็นด้วย
หุ้นบริษัทติวเตอร์ที่เป็นบริษัทมหาชนของจีนได้รับความนิยมมาก ทำกำไรกันเป็นกอบเป็นกำ บริษัทติวเตอร์บางแห่งเช่น TAL Education มีมูลค่าเกินล้านล้านบาท เท่ากับมูลค่า บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันอันดับ 1 ของประเทศไทย
TAL Education ย่อมาจาก Tomorrow Advancing Life Education ตั้งเมื่อ พ.ศ.2546 ใครซื้อหุ้นบริษัทติวเตอร์ รวยกันทุกคน เพราะมูลค่าหุ้นเติบโตหลายสิบเท่า ใครลงทุนซื้อหุ้นของ TAL Education 1 ล้านบาทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มา พ.ศ. 2564 ขายได้เงินมากถึง 27 ล้านบาท
ธุรกิจการติววิชาของจีนไปไกลถึงขนาดสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และขยายสาขาได้ไวมาก อย่างเช่น TAL Education เพียงปีแรกก็เปิดสาขาได้มากถึง 153 แห่ง เมื่อถึง พ.ศ. 2563 มีสาขามากถึง 936 แห่ง
รายได้ของ TAL Education แต่ละปีเกือบจะเป็นแสนล้านบาท พ.ศ.2562 มีรายได้ 76,800 ล้านบาท กำไร 11,000 ล้านบาท ทำให้คนที่สถาปนาตัวเองเป็นติวเตอร์ที่ตั้งโรงเรียนกวดวิชาแบบนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินคนละหลายแสนล้านบาท
...
ที่ผมเขียนไปข้างบน เป็นเพียงสถาบันติวแห่งเดียวนะครับ สถาบันติวเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลูกคนรวยมีฐานะใช้ความรู้ที่ได้จากโรงเรียนติวกระโจนขึ้นไปคว้าโอกาสที่ดีมีอนาคต ยิ่งรวยก็ยิ่งมีโอกาสมาก ผิดกับวัตถุประสงค์ของการสร้างประเทศแบบสังคมนิยม
23 กรกฎาคม 2564 รัฐบาลจีนออกระเบียบให้ธุรกิจด้านการศึกษา บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษา โรงเรียนและสถาบันกวดวิชาต่างๆ ในจีนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ถ้าไม่รีบตัดความเหลื่อมล้ำ ต่อไปจะเกิดปัญหาสังคมอย่างรุนแรง
ทันทีที่รัฐบาลจีนประกาศให้โรงเรียนติวเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร หุ้นกลุ่มธุรกิจการศึกษาของจีนก็ร่วงระเนระนาด ธุรกิจสถาบันกวดวิชาซึ่งมีมูลค่าเท่ากับงบประมาณประเทศไทยทั้งปี (3 ล้านล้านบาท) ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
การกวดวิชาสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการศึกษาในระบบ ที่ไม่สามารถผลิตผู้สอนและสร้างระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ปกครองที่กังวลอนาคตของบุตรหลานต้องดิ้นรนขวนขวายหาสตางค์เพื่อให้ลูกได้เรียนพิเศษ
ถ้าจะไม่ให้มีโรงเรียนติว รัฐต้องหาคนเก่งไปบริหารการศึกษาของภาครัฐ ต้องหาครูฝีมือเซียนไปสอน ในหลายประเทศกำหนดให้คนที่สอบได้อันดับต้นของแต่ละจังหวัดได้ทุนไปเรียนครู แล้วก็กลับมารับใช้ชุมชนดั้งเดิมของตน
กฎระเบียบด้านการศึกษาใหม่ของจีนที่เพิ่งออกมาก็เช่น ธุรกิจเทคโนโลยีการศึกษาและสถาบันกวดวิชาจะไม่สามารถระดมทุนหรือขายหุ้นสู่สาธารณะ บริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์ในจีนก็ไม่สามารถซื้อกิจการในธุรกิจการศึกษาได้
เงินทุนต่างประเทศห้ามเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจการศึกษาของจีน ห้ามนำหลักสูตรต่างประเทศเข้ามาสอน ห้ามคนต่างชาติมาสอน
รัฐบาลจีนงดให้ใบอนุญาตการตั้งสถาบันกวดวิชาแห่งใหม่ ให้มีการตรวจสอบสถาบันกวดวิชาที่ใช้ระบบการสอนแบบออนไลน์อย่างเข้มงวด ห้ามใช้หลักสูตรออนไลน์สำหรับเด็กอายุ 6 ขวบหรือต่ำกว่า รวมทั้งตั้งหน่วยงานพิเศษมาควบคุมสถานศึกษาเอกชนโดยเฉพาะกำกับดูแลค่าเล่าเรียน และจำกัดเวลาไม่ให้เด็กใช้เวลาในโรงเรียนกวดวิชามากเกินไป.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com