- หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลกเตือนนานาชาติ ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดผสมสูตรให้กับประชาชน หวั่นเกิดอันตราย เพราะยังไม่มีข้อมูลรองรับเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพระยะยาว
- คำเตือนนี้มีขึ้นในขณะที่แคนาดาและไทย ตัดสินใจที่จะให้วัคซีนต้านโควิด-19 ต่างยี่ห้อกับประชาชน เพื่อรับมือกับการระบาดรุนแรง
- สถาบันสุขภาพแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา กำลังทำการทดลองการมิกซ์รวมวัคซีนคนละยี่ห้อในสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันในโดสที่ 3
แพทย์หญิงโสมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลกออกโรงเตือนไปยังนานาประเทศที่มีแผนจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ในโดสแรกและโดสที่ 2 จากต่างบริษัทให้แก่ประชาชน อาจจะกลายเป็นแนวโน้มที่อันตราย เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือหลักฐานที่จะยืนยันความปลอดภัยของการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกัน รวมทั้งอาจจะเกิดความโกลาหลตามมา หากพลเมืองของประเทศนั้นๆ ไปเลือกตัดสินใจเอาเองว่าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 เข็ม 3 หรือเข็ม 4 ให้กับตัวเองด้วยวัคซีนที่ตัวเองต้องการ ซึ่งคำเตือนดังกล่าวได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม โดยเฉพาะประเทศที่มีการปรับใช้วัคซีนต่างยี่ห้อกัน จนเธอต้องออกมาชี้แจงทางทวิตเตอร์ในภายหลังว่าคำเตือนดังกล่าวเน้นย้ำไปที่ตัวบุคคลที่ไม่ควรเลือกใช้วัคซีนด้วยตัวเอง แต่หากเป็นนโยบายของหน่วยงานสาธารณสุขก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ ซึ่งคำเตือนนี้มีขึ้น ในจังหวะเดียวกับที่ไทยและแคนาดา ตัดสินใจที่จะให้วัคซีนต้านโควิด-19 ต่างยี่ห้อกับประชาชน เพื่อรับมือกับการระบาดรุนแรง
...
แพทย์หญิงสวามินาธาน จากองค์การอนามัยโลก ยังย้ำว่า สิ่งสำคัญในเวลานี้คือต้องให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะจากรายงานอาการเจ็บป่วยของผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดที่ส่งมาจากทั่วโลก รวมถึงสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้การระบาดรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า คนที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังมีโอกาสติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้จริง แต่วัคซีนก็ป้องกันร่างกายของคนที่ฉีดไม่ให้รับความเสียหายจากอาการเจ็บป่วยรุนแรง และส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีอาการใดๆ เลย เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยในเบื้องต้นยังพบอีกว่า ไวรัสในร่างกายของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังเกิดขึ้นได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีด ดังนั้นคนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นพาหะนำไวรัสไปติดยังคนอื่นๆ การฉีดวัคซีนจึงลดอัตราการแพร่ระบาดลงได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดโควิด-19 และสามารถกระจายเชื้อต่อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกยังขอให้ทุกคนสวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างทางสังคมกันต่อไป
องค์การอนามัยโลกยังเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยทั้งหลายบริจาควัคซีนโควิดให้กับประเทศยากจนก่อน แทนที่จะเดินหน้าทำการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจำเป็นในเวลานี้ โดย WHO พบว่า ตัวเลขผู้ป่วยโควิดจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตก็กลับมาเพิ่มขึ้นสูงอีกครั้งหลังลดลงตลอด 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้สถานการณ์ไวรัสโควิดเลวร้ายลงก็คือไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่พบการระบาดแล้วในกว่า 104 ประเทศทั่วโลก ทำให้บางประเทศเริ่มจะวางแผนในการใช้วัคซีนเข็ม 3 ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อย่างสหรัฐอเมริกาที่กำลังทดลองการใช้วัคซีนเข็ม 3 ต่างยี่ห้อ เพื่อเปรียบเทียบดูความแตกต่างของประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะกังวลว่าจะไม่สามารถรับมือกับการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตาได้ คาดว่าผลการทดลองเบื้องต้นน่าจะออกมาในช่วงปลายหน้าร้อนนี้ ขณะที่บางประเทศเลือกแนวทางที่จะใช้วัคซีนจากต่างยี่ห้อมาใช้ร่วมกันในเข็ม 1 และเข็ม 2 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
โดยในขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 ครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่พบการระบาด โดยมีผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยมากถึง 6,695 เคส และยังมีทีท่าว่าตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นอีกในไม่กี่วันข้างหน้า นับว่าอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาถึง 162 เปอร์เซ็นต์ จากช่วงวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึง 1,239 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนเคสเมื่อ 3 เดือนก่อน คือในช่วงวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์มากถึง 618 ราย จากบุคลากรทางการแพทย์ 677,000 คนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคจากจีนครบโดสแล้ว ทำให้ไทยวางแผนที่จะให้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งจะใช้แอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนโดสที่ 2 สำหรับคนที่รับวัคซีนซิโนแวคในโดสแรกไปแล้ว
...
ขณะที่แคนาดามีการประกาศแผนที่คล้ายคลึงกันตั้งแต่เดือนที่แล้วว่าจะให้ประชาชนที่รับวัคซีนโดสแรกจากแอสตราเซเนกา รับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเป็นวัคซีนโดสที่ 2 เพื่อหวังสร้างภูมิคุ้มกันในระดับสูงมากขึ้นเพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดาอ้างอิงข้อมูลว่า มีหลักฐานที่นักวิจัยพบว่า การใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาแล้วตามด้วย วัคซีนจาก mRNA จะกระตุ้นภูมิได้ดีกว่า
นอกจากนี้คณะกรรมการฯ ยังมีการเพิ่มเติมคำแนะนำไปยังประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ รวมทั้งผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ให้รีบรับวัคซีนจากแอสตราเซเนกาไปก่อน ดีกว่าที่จะรอวัคซีนจากไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา และยังแนะนำให้ทุกคนรับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ก่อน ยกเว้นเป็นผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนประเภทนี้ ส่วนใครที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 โดสแล้ว เชื่อว่าจะสามารถปกป้องพวกเขาจากอาการป่วยรุนแรงได้ และยังไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนเป็นโดสที่ 3
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศในยุโรปที่มีการใช้วัคซีนแบบผสมผสานกัน อย่าง อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส สเปน นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก ที่มีแนวทางในการฉีดวัคซีนสลับชนิดด้วยจุดประสงค์เดียวกัน
ขณะที่เกาหลีใต้ได้ปรับให้ผู้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มแรก มารับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 จากเหตุผลที่วัคซีนแอสตราเซเนกาในโครงการโคแวกซ์มาถึงล่าช้ากว่ากำหนด.
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา : เดลี่เมล์ , ซีเอ็นบีซี , แชนแนลนิวส์เอเชีย
...