มหาวิทยาลัยบราซิลเผยผลการศึกษาขนาดเล็ก พบว่า วัคซีนของซิโนแวคมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุแกมมา และพบว่าไวรัสสายพันธ์ุนี้หลบภูมิคุ้มกันได้

สำนักข่าว แชนเนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า มหาวิทยาลัย กัมปินาส ในประเทศบราซิล เผยผลการศึกษาใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. 2564 ระบุว่า วัคซีน ‘โคโรนาแวค’ ของบริษัท ซิโนแวค ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่บราซิลใช้รับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ จะมีประสิทธิภาพลดลงเมื่อเจอกับไวรัสสายพันธ์ุแกมมา

นักวิจัยพบด้วยว่า โควิดแกมมา ซึ่งพบเป็นครั้งแรกในบราซิล อาจสามารถติดในคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วได้ โดยมันสามารถหลบระบบภูมิคุ้มกันได้แม้แต่ในคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งบ่งชี้ว่า ไวรัสตัวนี้ อาจสามารถเแพร่กระจายในหมู่คนที่ได้รับวัคซีนแล้วได้ รวมถึงในพื้นที่ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ที่มีผู้เข้าร่วมการทดสอบเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 53 คน และผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโควิดแกมมามาแล้ว อีก 21 คน โดยในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว มี 18 คนได้รับวัคซีนโคโรนาแวคเพียง 1 โดส, ขณะที่ 20 คนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ส่วนอีก 15 คน ได้รับวัคซีนตั้งแต่การทดลองวัคซีนของซิโนแวคเมื่อเดือนสิงหาคม 2563

นักวิจัยพบว่า โควิดแกมมา สามารถหลบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนโดสเดียว และผู้ได้รับวัคซีนในปี 2563 เกือบทุกคน โดยภูมิคุ้มกันของผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนเมื่อไม่นานมานี้ จะมีประสิทธิภาพรับมือโควิดแกมมามากกว่า แต่ก็ยังป้องกันได้น้อยกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุก่อนหน้านี้

...

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกอนุมัติการใช้งานวัคซีน โคโรนาแวค ในกรณีฉุกเฉินเมื่อเดือนมิถุนายน โดยระบุว่า วัคซีนตัวนี้มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการที่ 51% และป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล 100%

ขณะที่ผลการทดสอบเฟส 3 ในตุรกี ซึ่งไม่ได้ทดสอบกับไวรัสกลายพันธ์ุ พบว่า การฉีดวัคซีนโคโรนาแวค 2 โดส ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 83.5% และป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 100% เช่นกัน แต่ทางผู้เขียนรายงานยอมรับว่า การทดสอบนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง รวมถึงผู้เข้าร่วมการทดสอบส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี และมีความเสี่ยงต่ำ ทำให้ต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมในกลุ่มผู้สูงอายุ, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี และทดสอบประสิทธิภาพต้านไวรัสกลายพันธ์ุด้วย