นับตั้งแต่ 3 ก.ค. พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 10 ชนิด ไม่ได้รับอนุญาตให้ขายในสหภาพยุโรป (อียู) อีกต่อไป รวมทั้งยังต้องมีการส่งเสริมความตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อสิ่งแวดล้อม และแนวทางในการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ตาม “ข้อบังคับยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” ที่มีผลบังคับใช้

ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (SUP) ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรงทั่วโลก ตามชายหาดในสหภาพยุโรปพบขยะเหล่านี้มากถึงร้อยละ 70 ของขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งบางส่วนจะแตกสลายเป็นเศษชิ้นเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เป็นไมโครพลาสติกที่ไม่ย่อยสลาย และสามารถปนเปื้อนอยู่ในน้ำ อากาศและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหากเข้าสู่ร่างกาย

ทั้งนี้ “ข้อบังคับยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว” กำหนดให้ 27 ประเทศสมาชิกห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 10 ประเภท ที่ประกอบด้วย ก้านสำลีพลาสติก ช้อนส้อม จาน หลอด ลูกโป่งและก้านลูกโป่ง ภาชนะบรรจุอาหาร ถ้วย/ภาชนะเครื่องดื่ม ก้นบุหรี่ ถุงพลาสติก บรรจุภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับห่อหุ้ม กระดาษชำระชนิดเปียกและผลิตภัณฑ์สุขอนามัย เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางน้ำ และต่อสุขภาพของมนุษย์ และมีเป้าหมายให้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งที่เหลือนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ภายในปี 2573 สอดคล้องแนวทางของอียูสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ด้านสิ่งแวดล้อม

ประเทศสมาชิกอียูล้วนสนับสนุนด้วยดี บางประเทศยังเพิ่มรายการที่ถูกแบน ที่ฝรั่งเศสแบนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้จากพลาสติก รวมทั้งถุงชาพลาสติก ของเล่นพลาสติกที่เสนอพร้อมเมนูอาหารสำหรับเด็กตั้งแต่ต้นปีก่อน ในกรีซก็ห้ามใช้ SUP ในหน่วยงานของรัฐตั้งแต่ต้นปี ส่วนอิตาลีและเบลเยียมก็เตรียมเก็บภาษีพลาสติก

...

ที่สำคัญการเคลื่อนไหวครั้งนี้ของอียู ยังคาดว่าอาจช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกส่งออกไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นจุดหมายใหม่ของการลักลอบนำเข้าขยะพลาสติก หลังจากจีนผู้เคยนำเข้าขยะรายใหญ่ประกาศห้ามนำเข้าขยะทุกประเภทมีผลช่วงต้นปีที่ผ่านมา.

อมรดา พงศ์อุทัย