• รู้จัก "Pandemic Brian" อาการที่สมองได้รับผลกระทบเรื้อรังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควร
  • ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากความเครียดสะสมซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากวิกฤติโรคระบาด และต้องใช้เวลานานในการเยียวยา ซึ่งแต่ละรายก็มีอาการที่หนักเบาแตกต่างกันไป
  • การเยียวยาสมองของเราได้ดีที่สุดแบบง่ายๆ คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังพบว่าการฟังเพลงที่เราชอบยังเป็นผลดีต่อสมองอีกด้วย 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากการหมั่นใส่ใจสุขภาพของตนเองและอาการของโรคโควิด-19 อาจจะต้องสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งถึงแม้บางท่านจะป้องกันตัวเองอย่างดีเยี่ยม แต่วิกฤติโรคระบาดอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของคนเราโดยไม่รู้ตัว ในช่วงเวลาหลังการประกาศล็อกดาวน์ในต่างประเทศ เริ่มมีผู้คนสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตนเอง เช่น ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาจเป็นไปได้ว่าท่านกำลังมีปัญหาเครียดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ด้าน ไมค์ เยสซา ผู้อำนวยการ ศูนย์ประสาทชีววิทยา การเรียนรู้ และความจำของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ ชี้ว่า อาการดังกล่าวนั้นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูระยะหนึ่ง อาการดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจต่อเนื่อง หรือเรียกว่าเป็น "Pandemic Brain"

...

ท่ามกลางการแพร่ระบาด แต่ละบุคคลก็มีประสบการณ์ที่รับมือกับวิกฤติครั้งนี้แตกต่างกันไป และมีผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้ติดโควิด-19 แต่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้ที่สูญเสียสมาธิการจดจ่อและความจำ ขณะที่บางส่วนเผชิญกับโรคซึมเศร้า

วิกฤติโรคระบาดนั้นเป็นตัวเร่งให้เกิดความเครียดในด้านต่างๆ พร้อมๆ กับการถูกระงับกิจกรรมบางประการที่เคยได้ทำเป็นปกติ กระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน ซึ่งการที่ฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมนั้นไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน เป็นที่รู้กันว่าความเครียดนั้นเป็นภัยร้ายต่อร่างกายของมนุษย์ โดยเฉพาะถ้าหากเกิดขึ้นอย่างยาวนาน การที่มีปริมาณคอร์ติซอล (Cortisol) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” มากเกินไปนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ นอนหลับผิดปกติ รวมไปถึงเกิดโรคทางอารมณ์ เช่น โรควิตกกังวล (Anxiety) และโรคซึมเศร้า (Depression) ซึ่งความเครียดเรื้อรังนั้นมีความสัมพันธ์กับเซลล์สมองกระทบต่อความจำ สมาธิและการเรียนรู้

ด้านนักวิจัยได้เริ่มศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสมองคนเราในรอบ 18 เดือน ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์และความไม่แน่นอน ด้านบาร์บารา ซาฮาเคียน ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ทำการค้นคว้าร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟูตัน ของจีนเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกักตัวและความโดดเดี่ยวที่ส่งผลกระทบต่อสมองในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาด และพบข้อมูลที่น่าสนใจซึ่งชี้ว่าหลายสมองหลายส่วนได้รับผลกระทบ เช่น ความผิดปกติของขนาดของสมองกระทบต่อกระบวนการที่คนเราเชื่อมโยงกับผู้อื่นและสิ่งรอบตัว

เมื่อระบบลิมบิกของสมองซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ควบคุมอารมณ์ได้ถูกครอบงำด้วยความกังวลและความไม่แน่นอน ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคซึมเศร้าอ่อนๆ ซึ่งเป็นอาการที่นักบำบัดได้รับรายงานจากคนไข้ แม้ในผู้ที่ก่อนหน้านี้มีร่างกายแข็งแรงดีก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม

แต่ผลข้างเคียงที่รับจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้นสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยวิธีที่คุ้นเคยกันดี เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งมีหลักฐานชี้ว่าสามารถเสริมสร้างกระบวนการทางความคิดได้ รวมถึงเป็นการป้องกันโรค เช่น สมองเสื่อม

อีกหนึ่งวิธีง่ายๆ คือการฟังเพลง ซึ่ง Efthymios Papatzikis ศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัยออสโล  เมโทรโปลิแทน ชี้ว่าการฟังเพลงนั้นช่วยเพิ่ม ออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และไมตรีจิต นอกจานี้ดนตรียังลดปริมาณ ของฮอร์โมนความเครียดในร่างกายอีกด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็นดนตรีแบบไหนก็สามารถฟังได้ทั้งนั้น แต่หากร้องคลอไปด้วยหรือเล่นดนตรีก็จะทำให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น ส่วนวิธีสุดท้ายที่สามารถฟื้นฟูจิตใจในช่วงการแพร่ระบาด คือ การนั่งสมาธิ ซึ่งเป็นวธีที่พบว่ามีความเชื่อมโยงกับการลดความตึงเครียดและช่วยให้ความจำดียิ่งขึ้นเช่นกัน.

...

ผู้เขียน: นัฐชา 

ที่มา: The Guardian, Glamour