- ทั่วโลกกำลังจับตาดูสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่กำลังลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก โดยเฉพาะการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลตาพลัสว่าจะส่งผลต่อการรับมือการระบาดมากน้อยเพียงใด
- ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลตาพลัส ซึ่งกลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดียแล้วอย่างน้อย 200 ราย ใน 11 ประเทศทั่วโลก
- เนื่องจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์เดลตาพลัสเพิ่งพบการระบาดได้ไม่นาน และมีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกหลายประการ ทำให้ยังคงเร็วเกินไปที่จะสามารถบ่งชี้ถึงอัตราการแพร่ระบาดได้
เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์เดลตาพลัส เป็นอีกหนึ่งเวอร์ชันของสายพันธุ์เดลตาที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดีย โดยชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ของสายพันธุ์นี้คือ B.1.617.2.1 หรือ AY.1 โดยมีรายงานเกี่ยวกับเชื้อตัวนี้โดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่พบเคสการติดเชื้อเคสแรก ในวันที่ 26 เมษายน และอาจจะมีการระบาดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
ปัจจุบันเริ่มพบการระบาดของเชื้อตัวนี้แล้วใน 11 ประเทศทั่วโลก มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว 200 ราย รวมถึง สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอินเดียซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ศพ จนทำให้ทั่วโลกต้องหันมาจับตามองอีกครั้ง
ด้านรัฐบาลอินเดียระบุว่า มีการส่งข้อมูลของเชื้อกลายพันธุ์ดังกล่าวไปยังระบบ โกลบอล ดาตา ซิสเต็ม (Global Data System) และได้ส่งตัวอย่างเชื้อไปทดสอบจีโนมแล้ว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบว่า สายพันธุ์กลายพันธุ์เดลตาพลัส มีการแพร่กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา หรือเดลตาหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะระบุว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง
...
ความแตกต่างระหว่างเชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัส และเดลตา?
เดลตาพลัสมีการกลายพันธุ์พิเศษที่เรียกว่า K417N ทำให้มีความแตกต่างกับเชื้อกลายพันธุ์เดลตา โดยการกลายพันธุ์จะมีผลต่อโปรตีนหนามที่จะไปเกาะกับเซลล์ที่มันเข้าไปแพร่เชื้อ นายฟรองซัวร์ บัลล็อกซ์ ผู้อำนวยการของสถาบันพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า กลายพันธุ์พิเศษที่เรียกว่า K417N ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งหมด เพราะพบในการกลายพันธุ์หลายตัว อย่างที่พบในกาตาร์เมื่อเดือนมีนาคมปี 2563 และยังพบในเชื้อกลายพันธุ์เบตาที่พบครั้งแรกในแอฟริกาด้วย โดยการกลายพันธุ์จะหลบภูมิคุ้มกันได้ แต่การแพร่ระบาดจะง่ายขึ้นหรือไม่ยังไม่ชัดเจน โดยไวรัสทุกตัวจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด ซึ่งการกลายพันธุ์มีขึ้นเพื่อทำให้ไวรัสเพิ่มประสิทธิภาพในการติดเชื้อ หรือการแตกตัว ซึ่งจนถึงขณะนี้ มีเชื้อโควิดการกลายพันธุ์มากถึง 160 สายพันธุ์ทั่วโลกแล้ว
ด้านมาเรีย แวนเคอร์โคฟ จากองค์การอนามัยโลก แถลงว่าองค์การฯยังคงเฝ้าระวังเชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัส เพื่อดูอัตราการแพร่เชื้อ ความรุนแรง รวมทั้งแนวทางการรับมือทางการแพทย์ โดยในเวลานี้สายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์เดลตาดั้งเดิม ที่มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และพบในหลายสิบประเทศ มีอัตราการแพร่ระบาดได้มากกว่าสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในอังกฤษราว 40-60 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่นายทีโดรส อัดฮานอม กรีเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยอมรับว่าองค์การอนามัยโลกก็มีความกังวลต่อเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาเช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก เพราะนับเป็นเชื้อที่มีการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุดเท่าที่พบตอนนี้
เชื้อเดลตาพลัส เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ติดเชื้อ หรือดื้อวัคซีนหรือไม่?
จากข้อมูลของรัฐบาลอินเดีย พบว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัส เพิ่มศักยภาพในการระบาด เนื่องจากสามารถเข้าไปเกาะติดกับเซลล์ของปอดได้ดี และยังลดความสามารถของภูมิคุ้มกันลงด้วย อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการกลายพันธุ์นี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนหรือไม่ แต่ก็มีคำเตือนจากจูเลียน ถัง ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจแห่งมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ที่ระบุว่า เชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจจะสามารถหนีภูมิจากวัคซีนได้ โดยวัคซีนสำหรับต้านเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ ถูกออกแบบมาเพื่อฝึกให้ร่างกายรู้จักตัวหนามโปรตีน หรือบางส่วนของเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัสมีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้ด้วย แต่ในเวลานี้ ก็ยังคงไม่มีหลักฐานที่เพียงพอ ที่จะตัดสินหรือหาข้อสรุปในประเด็นนี้ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติรวมทั้งองค์การอนามัยโลกยังต้องเฝ้าระวังและจับตามองต่อไป
จุดเริ่มต้นที่พบเชื้อ และความรวดเร็วในการแพร่เชื้อ
จนถึงเวลานี้เชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัส พบแล้วใน 11 ประเทศ แต่จำนวนของผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศก็ยังไม่ชี้ชัดถึงอัตราการแพร่ระบาด และยังต้องรอข้อมูลที่มากกว่านี้เพื่อนำไปคำนวณอัตราการติดเชื้อได้ นาย ที จาคอบ จอห์น หัวหน้าภาคไวรัสวิทยาแห่งวิทยาลัยการแพทย์คริสเตียนในอินเดีย ระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลว่าเดลตาพลัส มีการติดเชื้อในคนที่เคยติดเชื้อในระลอกแรกและมีภูมิไปแล้ว หรือมีการระบาดในระลอกสอง ดังนั้นนักวิจัยยังคงต้องเร่งเก็บข้อมูลเพื่อหาคำตอบต่อไป
...
โดยสหรัฐอเมริกาพบผู้ติดเชื้อตัวนี้มากที่สุดที่ 83 ราย จากข้อมูลจนถึงวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามมาด้วยอินเดีย 48 ราย โดยในจำนวนนี้เป็นหญิงชราวัย 80 ปี ที่เสียชีวิตในรัฐมหาราษฏระ โดยเบื้องต้นพบการติดเชื้อใน 3 รัฐ ก่อนที่จะขยายไป 8 รัฐ ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องขอให้ทุกรัฐเร่งรับมือกับการระบาดโดยเร็ว ทั้งการตรวจเชื้อเพิ่ม ตามรอยผู้ใกล้ชิด และเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยขณะนี้อินเดียยังคงเพิ่งฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง แต่ก็ต้องตื่นตัวอีกรอบ เพราะเกรงว่าเดลตาพลัสอาจจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง
ขณะที่อังกฤษมีรายงานติดเชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว 41 ราย จนถึงวันที่ 16 มิถุนายน ส่งผลให้ทางการยกระดับการติดตามเคส เร่งตรวจคัดกรอง และแยกกักตัวผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่พบการระบาดทันที โดยผู้ที่ติดเชื้อเดลตาพลัสรายแรกในอังกฤษ มีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทาง หรือมีการต่อเครื่องมาจากเนปาลและตุรกี นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเดลตาพลัสในประเทศอื่นๆ ได้แก่ แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น เนปาล โปแลนด์ โปรตุเกส รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกีด้วย.
ผู้เขียน อาจุมมาโอปอล
ที่มา : ซีเอ็นเอ็น , ดิ อีโคโนมิกส์ไทมส์