วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่าน “พักหัวใจ” ไปท่องโลกกว้างดูเศรษฐกิจจีนกันสักวันนะครับ จีนเป็นประเทศแรกที่เจอการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น เป็นประเทศแรกที่สั่งปิดบ้านปิดเมืองปิดประเทศเพื่อกำจัดไวรัสร้ายโควิด แล้วก็เป็นประเทศแรกที่ชนะเจ้าไวรัสร้ายได้สำเร็จ เปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ แต่ยังไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้นำจีนเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเติบโตจากในประเทศไปสู่ความยั่งยืน แทนการเติบโตจากการส่งออกแบบเศรษฐกิจเดิมๆ

แม้จะเพิ่งฟื้นไข้ แต่เศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วติดต่อกัน 3 ไตรมาส จากแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ 3 เดือนแรกปีนี้จีดีพีโตแบบก้าวกระโดด 18.3% เติบโตแบบรูปตัววี (V) จากการฟื้นตัวด้านการผลิต การบริโภคในประเทศ และการค้าทุกด้าน

วันนี้ผมจะเล่าถึงความก้าวหน้าของจีนอีกด้านคือ “เงินหยวนดิจิทัล” Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ที่กำลังใกล้ความจริงในการนำ “เงินหยวนดิจิทัล” มาทดแทน “เงินหยวน” (Fiat Money) เงินดิจิทัลธนาคารกลาง กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็กำลังพัฒนา “เงินบาทดิจิทัล” ซึ่งก้าวหน้าไปมากแล้ว อีกไม่นานคนไทยคงได้ใช้ “เงินบาทดิจิทัล” ในการใช้จ่ายแทนเงินสดได้ทุกอย่าง

คุณภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เขียนบทความเรื่อง “การมาของหยวนดิจิทัล (DCEP) กับผลต่อธุรกิจ e-Commerce ไทย” ลงใน วารสารการเงินธนาคาร ฉบับมิถุนายนไว้อย่างน่าสนใจ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทย ที่ไปค้าขายบน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน ควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

...

ปี 2564 ทางการจีนได้วางแผนขยายเมืองในการทดสอบ “เงินหยวนดิจิทัล” เพิ่มขึ้นอีก 5 เมือง ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ฮ่องกง มาเก๊า และ มณฑลกวางตุ้ง มีประชากรรวมกันราว 170 ล้านคน จากเดิมที่มีเพียง 4 เมืองคือ สงอัน เซินเจิ้น ซูโจว และ เฉิงตู พร้อมกับขยายแหล่งรับเงินหยวนดิจิทัลหลากมากขึ้น อาทิ โรงพยาบาล ตู้หยอดเหรียญในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จากเดิมที่กระจุกตัวแค่ ร้านค้า ร้านอาหาร และ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ขณะเดียวกันจีนได้พัฒนาฟังก์ชันรองรับการใช้เงินหยวนดิจิทัลมากขึ้น เช่น ผ่านตู้เอทีเอ็ม ที่สามารถแปลงเงินฝากในบัญชีธนาคารเป็นเงินหยวนดิจิทัลได้ รวมทั้ง การใช้งานผ่านเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) และ บัตร Hard Wallet ที่เอื้อให้ประชาชนที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้สามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลได้ โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินหยวนดิจิทัลในวงกว้างมากขึ้น จีนยังมีแผนที่จะนำเงินหยวนดิจิทัลมาใช้ในงาน “กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2565” ที่กรุงปักกิ่งอีกด้วย ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนให้มีการใช้เงินหยวนดิจิทัลในกลุ่มคนต่างชาติด้วย จากเดิมที่อนุญาตเฉพาะคนจีนเท่านั้น

เมื่อเงินหยวนดิจิทัลมีการใช้อย่างแพร่หลาย ย่อมส่งผลกระทบต่อระบบชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่น่าจับตามากที่สุดคงเป็น ระบบการชำระเงินผ่านแพลตฟอร์ม e–Commerce ในจีน ซึ่งจะต้องมีการ เปลี่ยนระบบเพื่อรองรับการชำระเงินผ่านหยวนดิจิทัล ในระยะข้างหน้า (เช่น WeChat Alipay) การปรับเปลี่ยนดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซคนไทย ที่อยู่ใน แพลตฟอร์ม e–Commerce จีน แน่นอน

วันนี้ ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทย ที่ทำธุรกิจอยู่บน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน มีอยู่ 2 กลุ่มหลักคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จำหน่ายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Tmall.com JD.com เป็นต้น และ ผู้ประกอบการรายย่อย ที่ใช้ตัวแทนคนจีน ซึ่งจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

ผมนำบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย ที่กำลังเดือดร้อนอยู่แล้ว ได้เตรียมตัวล่วงหน้า จะอยู่กับอนาคตข้างหน้าอย่างไรให้รอด?

“ลม เปลี่ยนทิศ”