วิกฤติความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน ที่เรียกว่า “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6” เป็นหนึ่งในความท้าทายที่มนุษย์ต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21 สิ่งมีชีวิตหลายชนิดถูกคุกคามด้วยการสูญพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นผลโดยตรงหรือโดยอ้อมจากน้ำมือมนุษย์ การทำลายถิ่นอาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้ประโยชน์ที่มากเกินไป มลพิษ เหล่านี้คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกลดลงอย่างรวดเร็ว
ทีมนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ นักบรรพชีวินวิทยา นักธรณีวิทยา และนักสร้างแบบจำลองระดับนานาชาติ ได้เปรียบเทียบวิกฤติในปัจจุบันกับเหตุการณ์ สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 5 ที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบจังหวะเวลาการสูญพันธุ์และคาดการณ์เวลาฟื้นตัว เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลมาจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเมื่อ 66 ล้านปีก่อน กำจัดชนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกไปราว 76% เช่น ไดโนเสาร์ ทีมได้รวบรวมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลและหอยทากที่มีชีวิตจำนวน 3,387 ชนิดในยุโรปตลอด 200 ล้านปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตในน้ำจืด ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามมากที่สุดในโลก จากนั้นก็ประเมินอัตราการเกิดและการสูญพันธุ์เพื่อประเมินความเร็วการสูญพันธุ์และคาดการณ์เวลาแห่งการฟื้นตัว
การวิจัยครั้งใหม่นี้ ชี้ให้เห็นว่าอัตราความหลากหลายทางชีวภาพลดลงในระบบนิเวศน้ำจืดยุคปัจจุบัน มีมากกว่าช่วงสูญพันธุ์ในยุคครีเตเชียสที่คร่าชีวิตไดโนเสาร์ โดยอัตราการสูญพันธุ์ที่คาดการณ์ไว้เมื่อถึงปี พ.ศ. 2663 จะสูงกว่าช่วงที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ถึง 3 เท่า สัตว์น้ำจืด ที่มีชีวิตจำนวน 1 ใน 3 อาจหายไป นักวิจัยเผยว่าแม้เราจะมีชีวิตอยู่บนโลกได้ไม่นาน แต่มั่นใจว่าผลของการกระทำของเราจะอยู่ได้นานกว่าเราไปอีกหลายล้านปี.
...
Credit : Thomas A. Neubauer