‘คัลลิแนน’ คือเพชรที่มีน้ำหนักมากที่สุดในโลก 3,106 กะรัต ถูกขุดพบในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เมื่อ พ.ศ.2448 ‘เลเซดีลา โรนา’ เพชรที่มีน้ำหนักมากเป็นอันดับ 2 ของโลก 1,109 กะรัต ถูกขุดพบในสาธารณรัฐบอตสวานาเมื่อ พ.ศ.2558

สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทอัญมณี เด็บสวานา ประกาศว่าขุดพบก้อนดิบเพชรขนาดใหญ่ 73 × 52 × 27 มิลลิเมตร น้ำหนักมากถึง 1,098 กะรัต ในสาธารณรัฐบอตสวานา คาดว่าเพชรที่ยังไม่ตั้งชื่อเม็ดนี้จะเป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

เพชรเป็นแร่ที่แข็งที่สุดในบรรดาแร่ทั้งหมดที่มีบนโลกความแข็งที่ 10 โมห์สเกล เกิดจากความกดดันและอุณหภูมิที่ฝังตัวอยู่ใต้พื้นโลกลึกลงไปประมาณ 100 ไมล์ เมื่อภูเขาไฟระเบิดเพชรจะถูกดันขึ้นมากับแมกม่าและแร่ชนิดอื่นๆ

เพชรที่ถูกชะล้างไหลลงไปตามร่องผิวของพื้นโลกหรือไหลลงไปตามแม่น้ำซึ่งขุดหาได้ง่าย จะเรียกว่าเหมืองเพชรชั้นที่ 2 (Secondary Sources) สำหรับเหมืองเพชรชั้นแรก (Primary Sources) จะมาจากเหมืองขุด ซึ่งการทำเหมืองเพชรแต่ละแห่ง เพื่อให้ได้เพชรคุณภาพดี 1 กะรัต ต้องขุดดินมากประมาณ 250 ตัน

ตอนนี้กระแสตื่นเพชรในทวีปแอฟริกากำลังบูมตูมตาม จนทำให้ผมนึกถึงจันทบุรีและตราดในสมัยก่อนตอนยุคตื่นพลอย จุดกำเนิดพลอยจันท์ในยุคแรกอยู่แถวเขาพลอยแหวน แถวนี้พลอยดกหรือมีพลอยมาก ว่ากันว่าแค่เขี่ยตามพื้นดิน หรือหลังฝนตกหนักหน้าดินถูกชะออกไปก็จะเจอพลอยทั้งเม็ดใหญ่ขนาดกลักไม้ขีด หรือเม็ดเล็กขนาดก้อนกรวด ที่พบส่วนใหญ่เป็นพลอยประเภทคอรันดัมที่มีความแข็งที่ 9 โมห์สเกล ทั้งทับทิม ไพลิน เขียวส่อง บุษราคัม และสตาร์

เขาพลอยแหวน บางกะจะ บ่อไร่ หนองบอน นาวง ตกพรม บ่อเวฬุ อีเล็ม ฯลฯ คือแหล่งพลอยสำคัญระดับตำนานของภาคตะวันออกของไทย ที่สร้างเม็ดเงินจากอุตสาหกรรมอัญมณีตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำนับเป็นมูลค่ามหาศาล

...

กลับมาที่แอฟริกาใต้ซึ่งเป็นเมืองแห่งเพชรโลก พ.ศ.2548 แอฟริกาใต้ผลิตเพชรได้มากถึง 15.8 ล้านกะรัต แต่หลังจากนั้นก็ผลิตได้น้อยลงมากกว่าครึ่ง เมื่อ พ.ศ.2562 แอฟริกาใต้ผลิตเพชรได้ 7.2 ล้านกะรัต แต่ผลประโยชน์ที่ได้จากเหมืองแร่ขนาดใหญ่กลับตกไปอยู่ในมือของกลุ่มทุนข้ามชาติมากกว่า

12 มิถุนายน 2564 มีข่าวเล่าลือจากชาวบ้านในหมู่บ้านตวาฮลาที ในจังหวัดควาซูลู-นาทาล ทางภาคตะวันออกของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ว่ามีชาวบ้านเลี้ยงวัวคนหนึ่งพบหินก้อนแรกมีลักษณะคล้ายเพชร พอข่าวลือแพร่สะพัดออกไปเท่านั้น ชาวบ้านร้านถิ่นหลายพันคนจากทั่วประเทศก็แห่กันเดินทางไปแสวงโชคที่ชายป่า หมู่บ้านตวาฮลาที แบบไม่กลัวการระบาดของโควิด-19 ทันที

นักขุดเพชรมือสมัครเล่นส่วนใหญ่ยากจน และว่างงานมาหลายเดือน คนเหล่านี้คาดหวังว่าก้อนหินสีขาวใสที่พบคือเพชรมูลค่าสูง ซึ่งจะบันดาลอาหารให้ตกถึงกระเพาะของตนและของลูกเมียได้

ทว่าความหวังทั้งหมู่บ้านต้องพังลง เพราะผลจากการตรวจสอบก้อนแร่ที่เหล่านักแสวงโชคขุดได้นั้น เกือบทั้งหมดคือแร่ควอตซ์ ซึ่งบ้านเราเรียกหินเขี้ยวหนุมาน ผู้อ่านท่านครับ ควอตซ์เป็นอัญมณีที่มีหลายสี ทั้งสีใสคล้ายเพชร ทั้งสีม่วงที่เราเรียกว่าอเมทิสต์ ทั้งสีเหลืองที่เราเรียกว่าซิทริน สโมคกี้ควอตซ์ที่มีสีเทาแบบควันไฟโรสควอตซ์หรือควอตซ์สีชมพูอ่อน ฯลฯ แม้ว่าจะมีความแข็ง 7 โมห์สเกล มีความทนทานดี แต่ราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับเพชร

หลังจากผิดหวัง ผู้คนก็ทยอยกันกลับถิ่นฐานของตนจนเหลือนักแสวงโชคหลักร้อย แม้ว่าจะเหลือเพียงหลักร้อย แต่ทางการของแอฟริกาใต้ก็กังวลอย่างหนัก เพราะการมาอยู่รวมกันของคนหมู่มากอย่างนี้ อาจทำให้เกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ระบาดหนักอีกก็ได้

ภาพของประชาชนที่ผิดหวัง ซึ่งอาจจะกลับไปป่วยด้วยโรคร้ายและอาจแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ให้กับครอบครัวและชุมชนของตน น่าเห็นใจครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com