ธนาคารสวิสเผยผลวิจัยพบว่า เมื่อปี 2563 โลกมีเศรษฐีเพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านคน แม้โควิดระบาดหนัก เนื่องจากราคาบ้านที่พุ่งสูง
สำนักข่าว บีบีซี รายงานเมื่อ 23 มิ.ย. 2564 ว่า ธนาคาร เครดิตสวิส (Credit Suisse) จัดทำรายงาน ‘Global Wealth Report’ ซึ่งเป็นการวิจัยความมั่งคั่งของผู้คนในโลก และพบว่า เมื่อปี 2563 ทั่วโลกมีเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นถึง 5.2 ล้านคน เป็นทั้งหมด 56.1 ล้านคน แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม
ตัวเลขดังกล่าวหมายความว่า มีประชากรโลกเป็นเศรษฐีเกิน 1% ของจำนวนทั้งหมดเป็นครั้งแรก โดยการฟื้นตัวของราคาหุ้นกับราคาบ้านที่พุ่งทะยาน มีส่วนช่วยทำให้ทรัพย์สินของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
ทีมวิจัยของเครดิตสวิส ระบุว่า ปัจจัยสร้างความร่ำรวยนั้น แยกออกจากผลกระทบที่การระบาดมีต่อเศรษฐกิจอย่างสิ้นเชิง และการลดอัตราดอกเบี้ยและมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของรัฐบาล นำไปสู่การโยกย้ายทรัพย์สินก้อนโตจากภาครัฐไปสู่ภาคครัวเรือน ทำให้การออมภาคครัวเรือนมากขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้น และหนี้ครัวเรือนลดต่ำลง
ทั้งนี้ ตามปกติแล้วการนิยามว่าบุคคลหนึ่งเป็นเศรษฐีนั้น คิดจากการที่พวกเขามีสินทรัพย์ที่สามารถนำไปลงทุนได้ มูลค่ามากกว่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เครดิตสวิสระบุว่า จำนวนเศรษฐีของพวกเขาอาจสูงกว่าการประเมินขององค์กรอื่นๆ เพราะพวกเขานับรวมทั้งสินทรัพย์ที่ลงทุนได้และลงทุนไม่ได้
นายแอนโธนี เชอร์ล็อกส์ นักเศรษฐศาสตร์และผู้เขียนรายงาน Global Wealth Report ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบระยะสั้นแต่ฉับพลันต่อตลาดโลก และส่วนใหญ่ย้อนคืนกลับมาทั้งหมดในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563
...
แต่หากไม่นำเรื่องราคาทรัพย์สินทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เช่น ราคาบ้าน มาคิดรวมด้วย มูลค่าทรัพย์สินในครัวเรือนของคนในโลก อาจลดลงอย่างมาก ขณะที่ในกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินรองลงมา และมีสินทรัพย์ทางการเงินน้อยกว่า มักมีมูลค่าทรัพย์สินคงที่ หรือ ลดลง เหมือนในหลายกรณี.