รัสเซียเผย เรือลาดตระเวนของพวกเขายิงปืนเตือนเรือรบของอังกฤษในทะเลดำ ขณะที่เครื่องบินเจ็ตทิ้งระเบิดขู่บนเส้นทางเดินทาง แต่ทางการอังกฤษยืนยัน ไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น

สำนักข่าว บีบีซี รายงานว่า กระทรวงกลาโหมของรัสเซียออกมาเปิดเผยในวันพุธที่ 23 มิ.ย. 2564 ว่าเรือลาดตระเวนของกองทัพลำหนึ่งยิงปืนเตือน ขณะที่เครื่องบินเจ็ตทิ้งระเบิดบนเส้นทางเดินเรือของ เรือพิฆาต ‘เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์’ ของสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังเดินทางห่างจากชายฝั่งแคว้นไครเมีย ที่รัสเซียเข้ายึดครองประมาณ 19 กม.

กระทรวงกลาโหมรัสเซียโจมตีฝ่ายอังกฤษด้วยว่า พฤติการณ์อันตรายของเรือรบที่แล่นเข้าสู่น่านน้ำของพวกเขา เป็นการละเมิดอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล อย่างร้ายแรง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการสอบสวนลูกเรือของเรือ เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ ด้วย

ก่อนหน้านี้นายโจนาธาน เบล นักข่าวของบีบีซีซึ่งได้รับเชิญให้ร่วมเดินทางไปกับ เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น รายงานข่าวว่า เรือรบลำนี้ถูกกองทัพรัสเซียคุกคามขณะอยู่ในทะเลดำเพื่อมุ่งหน้าไปยังจอร์เจีย โดยเจ้าหน้าที่บนเรือมีการใช้วิทยุแจ้งเตือน และเตรียมความพร้อมเผื่อเกิดการเผชิญหน้ากัน

นายเบล บอกอีกว่า เขาเห็นเครื่องบินกว่า 20 ลำ บินอยู่เหนือเรือเอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ และมีเรือของหน่วยยามฝั่งรัสเซียอีก 2 ลำ แล่นห่างจากเรือของพวกเขาเพียง 100 ม. เท่านั้น

กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่ภาพที่ถ่ายเครื่องบินรบลำหนึ่ง แสดงให้เห็นเรือพิฆาต เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ แล่นอยู่ในทะเลดำ เมื่อ 23 มิ.ย. 2564
กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยแพร่ภาพที่ถ่ายเครื่องบินรบลำหนึ่ง แสดงให้เห็นเรือพิฆาต เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ แล่นอยู่ในทะเลดำ เมื่อ 23 มิ.ย. 2564

...

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของรัสเซียกับรายงานของนายเบล กลับสวนทางกับแถลงการณ์จากสำนักงานนายกรัฐมนตรีอังกฤษและกระทรวงกลาโหม ซึ่งยืนยันว่าไม่มีการเผชิญหน้าเกิดขึ้นแต่อย่างใด “ไม่มีการยิงปืนเตือนใส่ เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ เรือราชนาวีลำนี้เดินทางผ่านน่านนี้ยูเครนอย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ”

“เราเชื่อว่ารัสเซียกำลังทดสอบยิงปืนในทะเลดำ” กระทรวงกลาโหมอังกฤษระบุผ่านทวิตเตอร์ “ไม่มีกระสุนถูกยิงตรงมายัง เอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ และเราไม่ยอมรับในคำกล่าวอ้างที่ว่า มีระเบิดถูกทิ้งลงมาบนเส้นทางเดินเรือลำนี้”

อนึ่ง เรือเอชเอ็มเอส ดีเฟนเดอร์ ออกเดินทางจากเมืองโอเดสซา ทางตอนใต้ของประเทศยูเครน เพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศจอร์เจีย ทำให้ต้องเดินทางผ่านน่านน้ำทางใต้ของคาบสมุทรไครเมีย ดินแดนของยูเครนที่ถูกรัสเซียควบรวมไปในปี 2557 และอ้างเป็นเจ้าของดินแดนและน่านน้ำแถบนี้ แต่นานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกไม่ให้การยอมรับ