บริการมิวสิกสตรีมมิ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงของอังกฤษมีรายได้จากต่างประเทศสูงถึง 519.7 ล้านปอนด์ หรือราว 22,834 ล้านบาทในปีที่แล้ว สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับแต่ปี 2543 ที่เริ่มมีการบันทึกรายได้ในต่างแดน ตามที่ Phonographic Industry Association (BPI) ตัวแทนการค้าด้านสิ่งบันทึกเสียงของอังกฤษ เผยข้อมูลเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
อังกฤษเป็นผู้ส่งออกเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯประมาณ 1 ใน 10 ของเพลงทั้งหมดที่สตรีมทั่วโลกเป็นผลผลิตมาจากเกาะอังกฤษ ศิลปินชาวอังกฤษ 300 ราย ประสบความสำเร็จในระดับที่เพลงถูกสตรีมเกินกว่า 100 ล้านครั้งต่อปี ขณะที่อีกมากกว่า 500 ราย ถูกสตรีมถึง 50 ล้านครั้งต่อปี ทำให้สตรีมมิ่งเป็นช่องทางรายได้ที่สำคัญ แม้จะมีประเด็นเรื่องผลตอบแทนแก่ศิลปินที่ไม่สมน้ำสมเนื้อก็ตาม
ปีที่ผ่านมาเพลง Don't Start Now ของ “ดัว ลิปา” เป็นเพลงฮิตที่สุดของอังกฤษ มียอดสตรีมสูงถึง 1,620 ล้านครั้ง ขณะที่ Fine Line ของ “แฮร์รี สไตล์ส” เป็นอัลบั้มขายดีอันดับ 5 ของโลก แม้จะมีศิลปินโด่งดังมากมาย แต่ไม่มีศิลปินอังกฤษติดโผ 10 อันดับศิลปินยอดขายรวมสูงสุดของปี
โดยมีวงจากเกาหลีใต้อย่าง “บีทีเอส” ครองอันดับ 1 ที่เหลือมาจากอเมริกาทั้งหมด อย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์, เดรก, บิลลี ไอลิช และ เดอะ วีกเอนด์ ทำให้เกิดคำถามถึงความสามารถของอังกฤษในการสร้างซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกในตลาดที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง
แม้ธุรกิจสตรีมมิ่งจะเติบโต แต่ BPI ระบุว่าส่วนแบ่งการตลาดเพลงทั่วโลกของอังกฤษกลับลดลงจากจุดสูงสุดที่ 17% ในปี 2558 เหลือเพียง 10% จึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อขยายการเติบโตของการส่งออกเพลง และส่งเสริมการแสดงและกิจกรรมระดับนานาชาติที่จะช่วยโปรโมตศิลปินอังกฤษไปทั่วโลก
...
โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากเบร็กซิต รวมทั้งยกระดับการคุ้มครองและการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ในตลาดส่งออกสำคัญๆ ก็ต้องรอดูต่อไปว่ารัฐบาลอังกฤษจะมีมาตรการใดเพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจเพลงที่แสดงให้เห็นว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มี “ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่”.
อมรดา พงศ์อุทัย