- การเมืองภายในอิสราเอลและสถานการณ์ปาเลสไตน์กำลังเปลี่ยนแปลง เมื่อ เบนจามิน เนทันยาฮู กลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหลังอยู่ในอำนาจมา 12 ปี
- จากระบบเลือกตั้งที่มีปัญหา ทำให้ในรอบ 2 ปี อิสราเอลมีการเลือกตั้งทั้งหมด 4 ครั้ง แต่พรรคลิคุดของเนทันยาฮูและแนวร่วมมีคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯ ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
- การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเกิดผลแบบเดียวกัน สองขั้วการเมืองใหญ่มีคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตัวแปรสำคัญคือพรรคยามินา ซึ่งนำโดย นัฟทาลี เบนเนตต์ ที่แม้มีเพียง 7 ที่นั่ง แต่การเลือกข้าง ก็ทำให้เขาสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
- แม้จะเป็นรัฐบาลที่มีแนวคิดทางการเมืองหลากหลาย ตั้งแต่ซ้ายสุดยันขวาจัด แต่ดูเหมือนแนวโน้มอุดมการณ์ของผู้นำจะยังยึดเอาแนวคิดชาตินิยมชาวยิวเป็นหลัก
การเมืองภายในอิสราเอลช่วงที่ผ่านมาเกิดความเปลี่ยนแปลงชนิดน่าจับตาใกล้ชิด รัฐบาลทางการชุดใหม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้สำเร็จ หลังจากต้องรอถึง 2 ปี พร้อมๆ กับการร่วงหล่นลงจากอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นับเป็นการปิดฉากการปกครองอิสราเอลภายใต้เงื้อมมือของเขาที่กินระยะเวลายาวนานถึง 12 ปี ห้วงเวลานี้จึงเป็นรอยต่อสำคัญที่การเมืองอิสราเอลจะเดินทางเข้าสู่ยุคใหม่
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศหนนี้จึงส่งผลสำคัญต่อแนวโน้มทางการเมืองของทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อทิศทางของความขัดแย้งกับปาเลสไตน์
บทความนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่อให้ภาพอย่างกระชับต่อสถานการณ์รอยต่อทางการเมืองภายในอิสราเอล และนัยสำคัญต่อการเมืองระหว่างประเทศ
เกิดอะไรขึ้นในการเมืองอิสราเอล
ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในอิสราเอลระลอกนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่พวกเขาประสบวิกฤติความไร้เสถียรภาพทางการเมืองภายในมาตั้งแต่ปี 2019 เริ่มต้นจากพรรคการเมืองบางส่วนถอนตัวจากแนวร่วมรัฐบาลภายใต้เนทันยาฮู เพราะการประกาศหยุดยิงกับขบวนการฮามาสเมื่อช่วงปลายปี 2018 อันนำมาซึ่งการประกาศยุบสภาเนสเซ็ต (Knesset) หรือรัฐสภาอิสราเอล
การเลือกตั้งที่ถูกจัดขึ้นใหม่ในเดือนเมษายน 2019 ปรากฏผลคะแนนเท่ากันระหว่างสองพรรค คือ พรรคลิคุด (Likud) และ พรรคบลูแอนด์ไวท์ (Blue and White) แม้พรรคลิคุตของเนทันยาฮูจะได้รับสิทธิในการฟอร์มรัฐบาลก่อน แต่ก็ไม่สามารถรวบรวมพรรคการเมืองอื่นๆ เข้าเป็นแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จึงต้องยุบสภาแล้วทำการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ซึ่งผลลัพธ์ออกมาคล้ายกัน
จากนั้นสภาฯ ต้องถูกยุบเพื่อรอการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งมีผลลัพธ์ไม่แตกต่างอีกเช่นกัน แต่ปัจจัยที่เพิ่มเติมเข้ามา คือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่รุนแรงขึ้นในอิสราเอล ทำให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาระหว่างแกนนำ คือพรรคลิคุดของ เบนจามิน เนทันยาฮู กับพรรคบลูแอนด์ไวท์ของ เบนนี่ กานซ์ ภายใต้ข้อตกลงเวียนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเนทันยาฮูได้ครองเก้าอี้ก่อน ส่วนกานซ์รับตำแหน่งที่เรียกว่า ‘alternate prime minister’ ซึ่งถ้าอธิบายอย่างง่ายก็คือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตัวสำรองที่รอสลับลงสนามเป็นตัวจริงเมื่อเวลาที่กำหนดมาถึงนั่นเอง
แต่กระนั้น รัฐบาลแห่งชาตินี้ก็สลายตัวจากการประกาศยุบสภาฯ ในช่วงธันวาคม 2020 จากการไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณในสภาได้
การเลือกตั้งจึงต้องมีขึ้นใหม่อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2021 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 4 ในรอบเวลาเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น
การเลือกตั้งหนนี้ให้ผลลัพธ์เบื้องต้นไม่ต่างนักจากทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา พรรคลิคุดได้สิทธิฟอร์มรัฐบาลก่อน แต่พวกเขาล้มเหลวภายในเวลาเส้นตายที่กำหนด สิทธิการสร้างแนวร่วมฟอร์มรัฐบาลจึงถูกถ่ายโอนไปยังพรรคเยช อทิด (Yesh Atid Party) ของ ยาอีร์ ลาปิด (Yair Lapid) ซึ่งได้รับคะแนนเสียงรองลงมาแทน
คราวนี้พวกเขาทำสำเร็จในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ โดยรวมเอาพรรคการเมืองอันหลากหลายแนวคิดทางการเมืองเข้าเป็นแนวร่วมฟอร์มรัฐบาล ซึ่งรวมถึงพรรคยามินา (Yamina Party) ของ นัฟทาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด และพรรคราอัม (Ra’am Party) หรือพรรคสหภาพอาหรับ (United Arab Liast) ของทันตแพทย์ที่ชื่อว่า มันซูร อับบาส (Mansour Abbas) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนผลประโยชน์ของชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับปาเลสไตน์ ภายใต้ข้อตกลงระหว่างพรรคแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลหมุนเวียนที่มี นัฟทาลี เบนเนตต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนตั้งแต่ปี 2021-2023 แล้วค่อยสลับให้ ยาอีร์ ลาปิด มาครองบัลลังก์ต่อในปี 2023-2025
...
บริบทเชิงโครงสร้างประการหนึ่งที่สำคัญต่อความเป็นไปทางการเมืองอิสราเอลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือระบบการเลือกตั้งที่ใช้แบบสัดส่วน (proportional representation) หรือระบบบัญชีรายชื่อ (party list) บนหลักการแบ่งสันปันส่วนอำนาจ (power-sharing) ระหว่างพรรคการเมืองอันมุ่งหมายออกแบบให้เกิดฝ่ายบริหารที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค มากกว่ารัฐบาลพรรคเสียงข้างมากเด็ดขาด
ระบบการเลือกตั้งนี้เป็นบริบทเชิงโครงสร้างที่ส่งผลร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ให้การเมืองอิสราเอลไร้เสถียรภาพ ตกอยู่ในภาวะ ‘deadlock’ ตั้งแต่ปี 2019 และเป็นโครงสร้างที่เอื้อให้พรรคขนาดเล็กสามารถมีเสียงในการต่อรองทางอำนาจได้มากกว่าขนาดของคะแนนเสียงที่พวกเขาได้รับจริง โดยเฉพาะในการฟอร์มรัฐบาล
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า จากที่นั่ง 120 ที่นั่งในสภาเนสเซ็ต ซึ่งผู้ฟอร์มรัฐบาลได้นั้นต้องรวมตัวกันแล้วได้ 61 ที่นั่ง แนวร่วมพรรคการเมืองที่มีพรรคลิคุดเป็นแกนนำมีอยู่ทั้งสิ้น 52 ที่นั่ง ส่วนแนวร่วมพรรคการเมืองอีกฝ่ายที่มีพรรคเยช อทิด เป็นแกนนำมีอยู่ทั้งสิ้น 51 ที่นั่ง
แนวร่วมของลิคุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ สิทธิจึงถูกโอนมาให้กับแนวร่วมในการนำของเยช อทิด ในเมื่อพวกเขาต้องการอีก 10 ที่นั่ง พรรคยามินาของเบนเนตต์ซึ่งมีที่นั่ง 7 ที่ และพรรคราอัมของอับบาสที่มี 4 ที่นั่ง จึงมีนัยสำคัญขึ้นมาทันที
และเลข 7 เป็นจำนวนที่มากยิ่งนักในสถานการณ์เช่นนี้ บท ‘king maker’ จึงมาตกอยู่ในมือของ นัฟทาลี เบนเนตต์ ที่แม้ว่าพรรคของเขาจะได้รับคะแนนเสียงในสภาฯ เพียง 7 ที่นั่ง แต่ก็สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
นัฟทาลี เบนเนตต์ เป็นใคร เขาจะพาอิสราเอลไปทางไหน และนัยสำคัญต่อประเด็นปาเลสไตน์
นัฟทาลี เบนเนตต์ เป็นอดีตทหารหน่วยจู่โจมของอิสราเอล ซึ่งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลเนทันยาฮู ตั้งแต่ปี 2013 รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (Minister of Defemce) ระหว่างปี 2019-2020
หลายคนอาจมองว่าเบนเนตต์เป็นผู้อยู่ในการอุปถัมภ์ใกล้ชิดของเนทันยาฮู แต่ก็แยกตัวออกไปในช่วงปี 2020 หลังจากสามารถขึ้นเป็นผู้นำแนวร่วมพรรคยามินา ซึ่งประกอบด้วยหลายกลุ่มการเมืองที่มีอุดมการณ์ขวาจัด และผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น ส่งผลให้เนทันยาฮูจับมือกับ เบนนี่ กานซ์ ผู้นำฝ่ายค้านแห่งพรรคบลูแอนด์ไวท์ ซึ่งมีอุดมการณ์เอียงซ้าย ซึ่งมิอาจไปด้วยกันได้กับอุดมการณ์ของพรรคยามินา
ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งรอบล่าสุดที่ส่งผลให้เขาก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น เบนเนตต์ให้นิยามตนเองต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่า เขา (และพรรคของเขานั้น) เป็นตัวแทนอุดมการณ์ที่ “ขวามากยิ่งกว่า” (more right-wing) เนทันยาฮู
อุดมการณ์ที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นอยู่ในท่าทีทางการเมืองของเบนเนตต์ต่อเรื่องต่างๆ เช่น การยืนยันสิทธิของชาวยิวในการตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงค์ พร้อมอ้างสิทธิทางประวัติศาสตร์และศาสนาของชนชาติยิวในการจัดตั้งรัฐยิว (Jewish State) เหนือพื้นที่ที่อิสราเอลยึดครองได้จากสงครามปี 1967 นั่นคือ เวสต์แบงก์ เยรูซาเล็มตะวันออก และที่ราบสูงโกลาน
ไม่ต้องแปลกใจเลยที่รัฐบาลของเขาจะเปิดฉากถล่มกาซาอีกระลอก
อีกด้านหนึ่ง เบนเนตต์ก็เป็นผู้มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจน่าสนใจ เขาเป็นมหาเศรษฐีที่เติบโตจากการประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ด้วยฐานที่เป็นครอบครัวชาวยิว-อเมริกัน อพยพมาจากซานฟรานซิสโกในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทำให้ธุรกิจของเขาสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ทั้งการขายกิจการบริษัทคีโยตา (Cyota) ซึ่งเชี่ยวชาญระบบซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยและการป้องกันการฉ้อโกงออนไลน์สำหรับสถาบันการเงินให้กับกลุ่ม RSA Security สัญชาติอเมริกัน
นอกจากนี้ยังเป็นซีอีโอดำเนินกิจการโซลูโต (Soluto) บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ปกป้องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์บนระบบไมโครซอฟท์วินโดวส์ และการจัดการอุปกรณ์ผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งต่อมากิจการได้ถูกขายไปให้บริษัทอะซูเรียน (Asurion) ที่เทนเนสซี และการลงทุนในบริษัทเพย์โอเนียร์ (Payoneer) ซึ่งประกอบธุรกิจด้าน Fintech จากการระดมทุนกันทั่วโลก และมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก
...
ดังนั้น ไม่แปลกที่เบนเนตต์จะมีแนวคิดทางเศรษฐกิจค่อนไปทางเสรีนิยม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการลดการควบคุมของรัฐต่อเอกชนเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการออกแบบมาตรการแก้ปัญหาราคาอาหารแพง การลดภาษีและอุปสรรคทางการค้า ที่มิใช่ภาษีเพื่อเพิ่มระดับการนำเข้าสินค้าถูกคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มการแข่งขันในภาคส่วนอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารถูกลง
ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำต้องกระทำด้วยการกำจัดการผูกขาดของมหาเศรษฐีและสหภาพแรงงานรายใหญ่ บวกกับการลงทุนของรัฐให้มากในด้านการศึกษาโดยมุ่งเน้นไปยังกลุ่มคนจนเป็นสำคัญ เพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมในอนาคต
สำหรับการค้าระหว่างประเทศ เบนเนตต์ส่งเสริมให้อิสราเอลลดการพึ่งพาการค้ากับสหภาพยุโรป แล้วเพิ่มระดับการค้ากับบรรดาตลาดเกิดใหม่ให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่สหภาพยุโรปอาจคว่ำบาตรอิสราเอลต่อประเด็นปาเลสไตน์นั่นเอง
แม้เราจะพอเห็นเค้าลางการเมืองอิสราเอลระยะต่อไปโดยสะท้อนจากแนวคิดและจุดยืนของเบนเนตต์ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเขาจะอยู่ในตำแหน่งแค่ราว 2 ปี หลังจากนั้น เก้าอี้นายกรัฐมนตรีจะถูกสลับมาให้กับ ยาอีร์ ลาปิด ได้นำรัฐบาลต่อ
ยาอีร์ ลาปิด มีภูมิหลังที่แตกต่างกับเบนเนตต์พอสมควร เขาเติบโตมาจากสายสื่อมวลชน เคยเป็นทั้งนักแสดง ผู้ประกาศข่าว พิธีกรรายการทอล์กโชว์ และคอลัมนิสต์ แม้ว่าพรรคเยช อทิดของลาปิดจะเป็นตัวแทนแนวคิดสายกลางทางการเมือง แต่สำหรับประเด็นปาเลสไตน์ ลาปิดดูมีท่าทีไม่ต่างจากเบนเนตต์มากเท่าที่ควร เมื่อดูจากจุดยืนในเรื่องอื่นๆ ของทั้งตัวเขาเองและพรรคที่สังกัด
กล่าวคือ แม้ว่าลาปิดจะชูแนวทางสองรัฐ แต่ในรายละเอียด เขายืนยันสิทธิของชนชาติยิวในการดำรงนิคมชาวยิวและที่อยู่อาศัยอื่นๆ ส่วนใหญ่ซึ่งได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานแล้วในเวสต์แบงค์ โดยนับรวมว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอิสราเอล ที่จะต้องบรรจุไว้ในข้อตกลงสันติภาพระหว่างกันในกระบวนการเจรจาบนหลักของแนวทางสองรัฐ
เช่นเดียวกับที่ราบสูงโกลาน ที่ลาปิดมองว่าควรผนวกรวมนับไว้เป็นดินแดนของรัฐอิสราเอลเช่นกัน ส่วนเยรูซาเล็ม ให้มีสถานะอันแบ่งแยกมิได้ แต่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสราเอล
ในอีกทางหนึ่ง แนวคิดของลาปิดต่อภูมิภาคก็ปรากฏออกมาในหลายๆ โอกาสว่าเขาเห็นด้วยกับการเร่งสร้างความสัมพันธ์แบบปกติกับบรรดารัฐในโลกอาหรับอย่างกว้างขวาง
ส่วนจุดยืนของลาปิดต่อประเด็นปาเลสไตน์ยืนยันอยู่ในถ้อยคำที่กล่าวไว้เมื่อปี 2016 เกี่ยวกับหลักการที่เขายึดถือในการดำเนินการต่อประเด็นดังกล่าวว่า แม้เขาจะสนับสนุนแนวทางสองรัฐ แต่คำว่า ‘สองรัฐ’ ในความหมายของเขานั้น คือ
“การเพิ่มชาวยิวให้มากที่สุด ในดินแดนที่มากที่สุด โดยมีความมั่นคงมากที่สุด และมีปาเลสไตน์น้อยที่สุด” (maximum Jews on maximum land with maximum security and with minimum Palestinians)
ยาอีร์ ลาปิด และพรรคเยช อทิดของเขาโน้มน้าวพรรคต่างๆ เข้าเป็นแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคภายใต้สโลแกน ‘Change Government’ หรือ ‘รัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลง’ โดยมี นัฟทาลี เบนเนตต์ เป็นตัวแปรสำคัญ แต่กระนั้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ท่าทีของรัฐบาลใหม่ต่อประเด็นปาเลสไตน์ดูจะส่อเค้าว่า ‘ไม่ได้ change’ สักเท่าไหร่ และอาจจะหนักข้อกว่าเก่า หากเราพิจารณาวิเคราะห์ในระดับผู้นำทางการเมือง
แม้รัฐบาลชุดนี้มีความพิเศษตรงที่มีแนวร่วมพรรคซึ่งเป็นตัวแทนอิสราเอลเชื้อสายอาหรับประกอบอยู่ด้วย แต่จุดยืนของ มันซูร อับบาส ผู้นำพรรคราอัม ก็ดูเหมือนจะจำกัดจำเขี่ยอยู่แค่เรื่องความต้องการการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวอิสราเอล-อาหรับเป็นข้อต่อรองร่วมรัฐบาลเท่านั้น
ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน จาก The Publicpost วิพากษ์แรงกว่านั้น โดยนำเสนอข้อวิเคราะห์ของสื่อในโลกอาหรับส่วนหนึ่งว่า ตำแหน่งแห่งที่ในสภาฯ และในพรรคร่วมรัฐบาลของอับบาสจะไม่เป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรมของปาเลสไตน์ เพราะบทบาทของเขาในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการปราบมุสลิมที่ต่อสู้กับอิสราเอลในสภาฯ เป็นตัวบ่งบอกชัดอยู่แล้ว และเมื่ออับบาสประกาศเข้าร่วมรัฐบาล ขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามระดับระหว่างประเทศอันเป็นผู้สนับสนุนชาวมุสลิมในอิสราเอลและปาเลสไตน์อย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด คือ ขบวนการอิควาน มุสลีมูน (Muslim Brotherhood) ก็ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับอับบาสและกลุ่มของเขาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา
พึงระลึกว่า กลุ่มและพรรคการเมืองในอิสราเอลที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับนั้นมีทั้งสิ้น 5 กลุ่มหลัก คือ พรรคบะลัด (Balad Party) พรรคฮะดัชหรืออัลญะบาฮฺ (Hadash Party) พรรคทะอัล (Ta’al Party) พรรคประชาธิปไตยอาหรับ (Arab Democratic Party) และพรรคราอัม (Ra’am Party) เดิมทีพวกเขารวมกลุ่มเป็นพันธมิตรแนวร่วมซึ่งสะท้อนผลประโยชน์ของชนมุสลิมอาหรับในอิสราเอล และขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อประเด็นปาเลสไตน์ ในชื่อพันธมิตรแนวร่วมที่ว่า ‘the Joint List’ แต่พรรคราอัมของอับบาส ก็ได้ถอนตัวออกไปจากกลุ่มพันธมิตรนี้ในช่วงมกราคม 2021
ความเปลี่ยนแปลงก่อนหน้าการเลือกตั้งเช่นนี้ ก็สำทับข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อในโลกอาหรับดังข้างต้นได้อย่างสอดคล้องกันว่า พรรคราอัมสำหรับพวกเขาน่าระเอือมมากเพียงใด
อย่างไรก็ตาม แม้จะดูเหมือนอะไรๆ ก็เป็นไปในทางเดียวเสียหมด แต่หนทางในวันหน้าของ ‘รัฐบาลเบนเนตต์-ลาปิด’ ก็ไม่ง่าย เพราะข้างต้นนั้นเป็นการวิเคราะห์เพียงในระดับของผู้นำทางการเมืองเท่านั้น
หากขยับมาพิจารณาวิเคราะห์ในระดับโครงสร้างของระบบการเมืองภายใน จะพบความยากลำบากที่กำลังรออยู่ว่า แนวร่วมของพวกเขากอปรขึ้นด้วยพรรคการเมืองที่มีจุดยืนแนวคิดแตกต่างหลากหลายเอามากๆ ตั้งแต่ซ้ายสุดยันขวาสุด ได้แก่ พรรคเยช อทิด พรรคบลูแอนด์ไวท์ พรรคเลเบอร์ พรรคยิสราเอล เบเทนู พรรคนิวโฮป พรรคเมเรทซ์ พรรคยามินา และพรรคราอัม
ขณะที่ในทางตรงกันข้าม พรรคลิคุดของอดีตนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูยังคงกุมที่นั่งในสภาอยู่ถึง 29 จาก 120 ที่นั่ง โดยพรรคแนวร่วมกับลิคุดในสภาฯ ประกอบด้วย พรรคชาส พรรคยูไนเต็ด โตราห์ ยูดายอิสม์ และพรรคไซออนิสต์ทางศาสนา รวมเป็นจำนวนมือที่จะยกโหวตทั้งสิ้น 52 จากทั้งหมด 120 เสียง
ส่วนพรรคบะลัดมีอยู่ 1 ที่นั่ง ทะอัล 2 ที่นั่ง และฮะดัช 3 ที่นั่ง อันเป็นกลุ่มพรรคพันธมิตรอาหรับ ซึ่งนับรวมกันจะมีอยู่ 6 เสียงโหวตในสภา ก็ไม่อยู่ในจุดยืนที่จะสนับสนุนทุกเรื่องของรัฐบาลชุดนี้
ดังนั้น การแสวงหาความเห็นพ้องภายในแนวร่วมที่หลากหลายจุดยืนและผลประโยชน์ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เพื่อเอาชนะจำนวนการยกมือโหวตของฝ่ายตรงข้ามโดยมิให้เสียงแตก บนเงื่อนไขที่การชนะโหวตในสภาโดยปกติต้องการเสียงเกินครึ่งที่ 61 เสียง ย่อมเป็นปัจจัยทำให้กระบวนการทางนิติบัญญัติในสภาฯ ของรัฐบาลเบนเนตต์-ลาปิด ไม่ใช่เรื่องง่าย
บนความแตกต่างหลากหลายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลผสมชุดที่ประกาศจะ ‘change’ อยู่นี้ ดูเหมือน ‘change’ เดียวที่เป็นเอกภาพที่สุดอันทำให้พวกเขารวมตัวกันติดได้ดังปรากฏ คือการโค่นล้มระบอบเนทันยาฮู ซึ่งดำรงอยู่ยาวนาน 12 ปีลง
นอกเหนือจากนั้นแล้ว รัฐบาลเบนเนตต์-ลาปิด ดูส่อเค้าว่าอาจต้องประสบความยากลำบากในการควานหาเสถียรภาพภายในพรรคร่วม และเป็นรัฐบาลที่มีแนวโน้มเปราะบางยิ่ง
ขั้นตอนการขึ้นสู่อำนาจสะท้อนเค้าลางข้างต้นได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ นัฟทาลี เบนเนตต์ ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการมีที่นั่งในสภาเพียงแค่ 7 จากทั้งหมด 120 ที่นั่ง ได้รับคะแนนโหวตไว้วางใจจากสภาฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเฉือนหวิวที่ 60 ต่อ 59 คะแนนเสียง และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของชาติที่จะต้องบริหารรัฐบาลผสมซึ่งมีความหลากหลายมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอิสราเอล.
...