ต้องยอมรับว่าการมองเห็นภาพอดีตนั้นบางครั้งก็มาจากเบาะแสอันน้อยนิด อย่างเช่นมูลสัตว์ที่กลายเป็นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล สามารถบอกเล่าถึงอาหารที่พวกสัตว์กิน และยังเชื่อมโยงไปถึงบรรดาพืชพรรณในช่วงเวลานั้นและประมาณการถึงระบบนิเวศในยุคโบราณได้
เมื่อเร็วๆนี้ ทีมจากสถาบันวิจัย Manaaki Whenua-Landcare Research ในนิวซีแลนด์ นำโดย ดร.เจมี่ วูด เผยการวิเคราะห์ฟอสซิลอุจจาระและระบบการย่อยของนกโมอาโบราณ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dinornithiformes โดยใช้กล้องจุลทรรศน์และใช้เทคนิคการระบุสารพันธุกรรม เพื่อถอดรหัสสิ่งที่นกโมอากินเข้าไป นักวิจัยเผยว่าสิ่งที่สะสมในฟอสซิลขี้นกโมอาที่พบในอุทยานแห่งชาติฟยอร์ดแลนด์ ก็สามารถระบุแหล่งที่มาของนกโมอาพุ่มไม้ (Bush moa) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 50-90 เซนติเมตร น้ำหนัก 26-64 กิโลกรัม ว่าพวกมันเคยปรากฏตัวในที่ราบลุ่ม ป่าทึบทั่วนิวซีแลนด์
นักวิจัยเผยว่าดีเอ็นเอของเรณูและพืชจากฟอสซิลขี้นกโมอา ชี้ให้เห็นว่ามีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ป่าซึ่งปกคลุมด้วยพืชตระกูลสน ได้เปลี่ยนไปสู่การครอบงำโดยพรรณไม้อื่นอย่างต้นซิลเวอร์บีช (Lophozonia menziesii) เมื่อประมาณ 6,800-4,600 ปีก่อน ทั้งนี้ ดีเอ็นเอ ละอองเกสร เศษซากใบมิสเซิลโทแดงซึ่งเป็นชนิดที่มักเกี่ยวข้องกับต้นซิลเวอร์บีช ก็ถูกพบในฟอสซิลมูลนกโมอาพุ่มไม้ ใบของต้นมิสเซิลโทแดงมีรสชาติดี ปัจจุบันยังเป็นอาหารโปรดของตัวพอสซัมเช่นกัน.
ภาพ Credit : Wood et al.